บทความทั่วไป
ชื่อโครงการ

พฤหัสบดี ที่ 10 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2551

โครงการวิจัย
รหัสโครงการ : RDG50S0002
ชื่อโครงการ : ศึกษาวิธีการป้องกันการขึ้นราในขนม และประยุกต์ขนมพื้นบ้านมุสลิมให้ร่วมสมัย ของกลุ่มส่งเสริมสตรีบ้านตอแล ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
ชุดโครงการ : เศรษฐกิจชุมชน
ชื่อหัวหน้าโครงการณ์ : นางสาว อาแอเสาะ วาแมดีซา
ระยะเวลาโครงการ : 1 ปี | เริ่มต้น : 1/5/2007 , สิ้นสุด :
แสดงงานวิจัยที่
นำไปใช้ประโยชน์ : RDG50S0002 จำนวน 0 เรื่อง
จำนวนเปิดอ่าน : 2488 ครั้ง
สถานภาพโครงการ : ดำเนินการโครงการ
ไฟส์สรุปย่อ : ยังไม่มี

วัตถุประสงค์โครงการ :
1. เพื่อศึกษาวิธีการแก้ปัญหาการขึ้นราในเค้กกล้วยหอมและโดนัท ด้วยวิธีการแบบชาวบ้านผสมผสานกับหลักวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
2. เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ และถ่ายทอดทักษะการทำขนมพื้นบ้านมุสลิมให้กับสมาชิก
3. เพื่อหาแนวทางการประยุกต์ขนมพื้นบ้านมุสลิมให้ร่วมสมัย รักษาคุณค่าแห่งภูมิปัญญาขนมพื้นบ้านของชุมชนบ้านตอแล


ความสำคัญ/ที่มาของปัญหา :
บ้านตอแล ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีประชากร 376 คน 61 ครัวเรือน เป็นชาย 175 คน คิดเป็นร้อยละ 46.67 เป็นหญิง 201 คน คิดเป็นร้อยละ 53.33 สภาพพื้นที่จะเป็นพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ จะมีภูเขาบ้าง รวมแล้วมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 15,280 ไร่ อาชีพของประชาชนส่วนใหญ่พึ่งพิงธรรมชาติและการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสวนยางพารา ซึ่งใช้เวลาในช่วงเช้ามืดจนถึงเที่ยงในการกรีดยาง เก็บน้ำยาง ทำนาตามฤดูกาล ส่วนช่วงบ่ายจะมีเวลาว่าง แม้การทำสวนยางพาราจะมีรายได้ดี แต่เมื่อเข้าช่วงฤดูฝน ชาวบ้านจะกรีดยางไม่ได้ จึงไม่มีหลักประกันในรายได้ที่แน่นอน ทำให้กลุ่มแม่บ้านได้หาทางเลือกทางออก จนเริ่มก่อตั้งกลุ่มส่งเสริมสตรีบ้านตอแลเพื่อผลิตขนมขายในชุมชน

กลุ่มส่งเสริมสตรีบ้านตอแล ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2547 ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลกายูบอเกาะ มีสหกรณ์จังหวัดยะลา เข้ามาแนะนำการบริหารจัดการ ตอนก่อตั้งกลุ่มครั้งแรกมีสมาชิก 30 คน แต่มาทำงานจริงเพียง 15 คน มีการเลือกกรรมการบริหาร 7 คน ทุนของกลุ่มได้มาจากการระดมทุนครั้งแรก คนละ 100 บาท จากนั้นให้สมาชิกจ่ายเป็นเงินสัจจะเดือนละ 20 บาท เป็นทุนหมุนเวียนระหว่างการทำขนม ตลาดของกลุ่มแบ่งเป็นร้านน้ำชา และร้านค้าปลีก กำไรที่ได้จากการขายขนมร้อยละ 20 จะแบ่งเข้ากลุ่มร้อยละ 5 เป็นค่าแรงร้อยละ 10 ศักยภาพการผลิตขนมตอนนี้ทำได้ 4 อย่าง ได้แก่ เค้กกล้วยหอม โดนัท ยิ้มเสน่ห์ (ขนมหัวเราะ) ขนมหม้อแกง

ปัญหาของกลุ่มคือขนมขึ้นราง่าย โดยเฉพาะเค้กกล้วยหอม และโดนัท ถ้าขายตามร้านน้ำชาไม่มีปัญหามากนัก เพราะขายหมดภายในสามวัน แต่ถ้าไปวางขายที่ร้านค้าขายปลีกจะมีปัญหา เมื่อผ่านไปหลายวันจะขึ้นรา และต้องไปรับคืนมาจากร้านค้า กลุ่มฯ จึงเห็นพ้องกันว่าจะทดลองแก้ปัญหาในขนมเค้กกล้วยหอมและโดนัท โดยมีเงื่อนไขคือต้องไม่ใช้วัตถุกันเสียที่มีอันตรายต่อสุขภาพทั้งผู้ทำขนม และผู้บริโภคขนม อาศัยความรู้ดั้งเดิมในแบบชาวบ้านผสมผสานกับหลักวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ศึกษาปัจจัยหรือตัวแปรต่างๆ ที่มีผลต่อการขึ้นรา ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ชะลอการขึ้นราในเค้กกล้วยหอมและโดนัท

นอกจากการแก้ปัญหาการขึ้นราในเค้กกล้วยหอมและโดนัทแล้ว กลุ่มฯ ยังมีความประสงค์จะรื้อฟื้นขนมพื้นบ้านที่เคยหายไปจำนวน 12 ชนิด ได้แก่ (1) อาเกาะ (2) กระบองเพชร (3) กแลแปะ หรือ ทองม้วน (4) โรตีกรอบ (5) กะละแม (6) ขนมโก๋ หรือ ปูตู (7) ฆาร๊ะ หรือ หมี่กรอบ (8) กะหรี่ปั๊บ (9) ขนมรังต่อ หรือ รังผึ้ง หรือ ดอกจอก (10) หนุมานคลุกฝุ่น (11) ลาดู และ (12) หูคนแก่ หรือ ขนมเจาะหู นอกจากนี้ยังมองโอกาสของกลุ่มที่จะทำขนมขายในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ช่วงเดือนรอมฎอนที่ชาวบ้านจะเปิดบวชช่วงเย็นด้วยขนมหวาน และเทศกาลสำคัญอย่างวันฮารีรายอ พิธีแต่งงาน พิธีเข้าสุนัต ฯลฯ เพื่อรักษาภูมิปัญญาและบันทึกความหมายของขนมแต่ละชนิดให้เป็นระบบ ซึ่งอาจเป็นทางเลือกของหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม ขนมโบราณที่กล่าวมาข้างต้นมีรูปทรง ขนาด และรสชาติที่ด้อยกว่าขนมถุงจากโรงงาน และอาจไม่เป็นแรงจูงใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้สนใจขนมพื้นบ้านแบบดั้งเดิมได้ กลุ่มฯ จึงได้กำหนดโจทย์วิจัยเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งคือการประยุกต์ขนมพื้นบ้านให้มีความแปลกใหม่ เป็นที่สนใจของเด็กๆ คงพื้นฐานของขนมโบราณไว้ โดยเลือกขนมพื้นบ้านที่น่าจะประยุกต์ได้ 9 ชนิด คือ (1) เค้กกล้วยหอม ปรับเปลี่ยนรูปทรง (2) โดนัท ปรับเปลี่ยนรสชาติ เพิ่มเครื่องปรุงแต่งโรยบนโดนัท (3) ทองม้วน ห่อไส้ชนิดต่างๆ (4) โรตี เปลี่ยนขนาด รสชาติ (5) ขนมโก๋ เปลี่ยนรูปทรง (6) ฆาร๊ะ เปลี่ยนรูปทรง (7) กะหรี่ปั๊บ เปลี่ยนไส้ (8) รังต่อ เปลี่ยนรสชาติ และ (5) หูคนแก่ เปลี่ยนขนาดและรูปทรง เพื่อสืบทอดขนมพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักต่อไป

คำถามวิจัย :
1. กลุ่มส่งเสริมสตรีบ้านตอแลจะมีวิธีการแก้ปัญหาการขึ้นราในเค้กกล้วยหอมและโดนัทด้วยวิธีการแบบชาวบ้านและหลักวิทยาศาสตร์การอาหารได้อย่างไร
2. กลุ่มส่งเสริมสตรีบ้านตอแลจะมีแนวทางการฟื้นฟูขนมพื้นบ้านมุสลิมและประยุกต์ให้เกิดขนมพื้นบ้านแบบร่วมสมัยเพื่อรักษาภูมิปัญญาการทำขนมและความหมายของขนมพื้นบ้านได้อย่างไร



การดำเนินงาน
1. เตรียมความพร้อมของทีมวิจัย บทบาทหน้าที่ และการบริหารจัดการโครงการ
2. ประชุมสรุปผลการวิจัยเดือนละ 2 ครั้ง
3. เรียนรู้วิธีการทดลองแก้ปัญหาขนม การใช้เครื่องมือต่างๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
4. ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาการขึ้นราในเค้กกล้วยหอม และโดนัทร่วมกับนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
5. รวบรวมองค์ความรู้ขนมพื้นบ้านมุสลิม 12 ชนิด และฝึกทักษะการทำขนมร่วมกับวิทยากรท้องถิ่น และวิทยากรจากภายนอกชุมชน
6. จัดทำรายงานความก้าวหน้า
7. ประยุกต์ขนมพื้นบ้านมุสลิม 9 ชนิด ให้ร่วมสมัยและสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค
8. ถอดบทเรียนการดำเนินงานวิจัย เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงในระดับนักวิจัย กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม และบทบาทที่มีต่อชุมชน
9. จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์


ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้วิธีการแก้ปัญหาการขึ้นราในเค้กกล้วยหอมและโดนัทที่ผสมผสานวิธีการแบบชาวบ้านกับหลักวิทยา-ศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
2. ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับขนมพื้นบ้านมุสลิม และเกิดการถ่ายทอดทักษะการทำขนมสูตรดั้งเดิมให้กับสมาชิกกลุ่ม
3. ได้แนวทางการประยุกต์ขนมพื้นบ้านมุสลิมให้ร่วมสมัย คนรุ่นใหม่นิยมทานขนมพื้นบ้านมากขึ้น กลุ่มมี รายงานจากการทำขนมเป็นอาชีพเสริม

******************************************************

โครงการวิจัย
รหัสโครงการ : RDG50N0019
ชื่อโครงการ : การมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านใหม่ในการบริหารจัดการน้ำคลองส่งน้ำซี 95 ทั้งระบบ ต.วังขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิตร ระยะที่ 1
ชุดโครงการ : การบริหารจัดการท้องถิ่น
ชื่อหัวหน้าโครงการณ์ : นาย สุรินทร์ ทรัพย์สกุล
ระยะเวลาโครงการ : 6 เดือน | เริ่มต้น : 1/5/2007 , สิ้นสุด :
แสดงงานวิจัยที่
นำไปใช้ประโยชน์ : RDG50N0019 จำนวน 0 เรื่อง
จำนวนเปิดอ่าน : 1408 ครั้ง
สถานภาพโครงการ : ขยายระยะเวลา โดยนักวิจัย
ไฟส์สรุปย่อ : ยังไม่มี

วัตถุประสงค์โครงการ :
1.เพื่อศึกษาศักยภาพและสภาพของชุมชนบ้านใหม่ในการบริหารจัดการน้ำการอย่างมีส่วนร่วมในการทำนาเขตพื้นที่คลองส่งน้ำ ซี 95

2.เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาการใช้น้ำในการทำนาเขตพื้นที่คลองส่งน้ำ ซี 95 ที่มีอยู่ทั้งหมด

3.เพื่อศึกษากระบวนการสร้างให้กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชุมชนบ้านใหม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำคลองส่งน้ำซี 95

4.เพื่อหาแนวทางและการดำเนินการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำในการทำนาเขตพื้นที่คลองส่งน้ำ ซี 95


ความสำคัญ/ที่มาของปัญหา :
ชุมชนบ้านใหม่ เดิมแยกมาจากหมู่บ้านท่าตาเสือ ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ซึ่งแต่เดิมนั้นการทำนาได้มีการใช้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำลำคลอง น้ำฝนตามช่วงฤดูกาล ต่อมาได้มีการจัดรูปแปลงนาและเริ่มมีระบบชลประทานเข้ามาช่วยเหลือในการจัดการน้ำเพื่อทำการเกษตร ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบการส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัว ตำบลบ้านน้อยอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตรของหมู่ 6 บ้านใหม่ อยู่ในเขตพื้นที่ส่งน้ำของคลองส่งน้ำ ซี 95 เกือบทั้งสิ้น ยกเว้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่ติดกับแม่น้ำพิจิตรเก่าซึ่งอยู่นอกเขตชลประทาน สำหรับคลองส่งน้ำ ซี 95 เป็นคลองสายซอยแยกจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ ซี 1 ที่ กม. 132 + 820 มีความยาว 3.254 กม. ส่งน้ำให้แฉกส่งน้ำ จำนวน 7 แฉก พื้นที่รวม 2,696 ไร่ และมีแฉกส่งน้ำใกล้เคียงกับคลองส่งน้ำ ซี 95 ที่อยู่ในเขตหมู่ 6 บ้านใหม่ คือ แฉกส่งน้ำ ซี 150 และซี 151 จำนวน 2 แฉก พื้นที่รวม 863 ไร่ รวมพื้นที่เกษตรทั้งสิ้น 3,559 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ ทิศเหนือติดกับคลองระบายน้ำ DR.7-18R ทิศใต้ติดกับถนนทับปรู - ท่าบัว ทิศตะวันออกติดกับคลองระบายน้ำ DR.7 และทิศตะวันตกติดกับคลองส่งน้ำ C 1 การใช้น้ำเพื่อการเกษตรสามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำหนองบึงธรรมชาติ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ และบ่อตอกน้ำตื้น

ศักยภาพในการทำนาของเกษตรกรในพื้นที่สามารถทำนาได้ทั้งปี เฉลี่ยการทำนาประมาณ 2 – 3 ครั้งต่อปี โดยไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่าเลย ซึ่งดูจากภายนอกเหมือนว่าการเกษตรที่ได้รับน้ำจากทางชลประทานจะเป็นเกษตรกรที่มีความสมบูรณ์ด้านแหล่งน้ำ แต่ในทางกลับกันยังเกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ แบ่งเป็นปัญหาใหญ่ๆ ได้ ดังนี้ 1)ปัญหาพฤติกรรมด้านการใช้ทรัพยากรน้ำของเกษตรกร เช่น ปัญหาการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย ปัญหาการแก่งแย่งน้ำ เป็นต้น 2)ปัญหาด้านกายภาพ เช่น ปัญหาด้านโครงสร้างของพื้นที่นาบางที่สูงบางที่ต่ำ ปัญหาการวางระบบคูส่งน้ำคูระบายน้ำ ปัญหาด้านโครงสร้างของอาคารชลประทาน เช่น การชำรุดเสียหาย ขาดการดูแลบำรุงรักษา เป็นต้น 3)ปัญหาเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ชลประทานในเรื่องระดับเปิด-ปิดคลองประตูระบายน้ำคลองซี 95

เมื่อชุมชนขยายโตขึ้น ผู้คนมากขึ้น ต่างคนต่างใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย เกิดปัญหาน้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้ง และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นจากการทำนาแบบตัวใครตัวมัน ซึ่งนับวันปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจนไม่มีใครสามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง ดังนั้น ทุกคนในชุมชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมระดมความคิดและเรียนรู้ร่วมกัน หาเหตุของปัญหาและหนทางแก้ไขโดยวิธีการจัดการความคิดอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการสร้างการ
เรียนรู้ให้ชุมชนรู้จักตัวเอง สร้างความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ชลประทาน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในการทำนาเขตพื้นที่คลองส่งน้ำ ซี 95 ซึ่งกระบวนการวิจัยดังกล่าวนี้ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนบ้านใหม่ในด้านการบริหารจัดการน้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์หรือสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดการปัญหาด้านอื่นๆ ต่อไปได้อีกด้วย


คำถามวิจัย :
การมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านใหม่ ต.วัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิตร ในการบริหารจัดการน้ำคลองส่งน้ำซี 95 ทั้งระบบ มีแนวทางและการดำเนินการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร

พื้นที่ศึกษา :
เขตพื้นที่การส่งน้ำของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัว คลองส่งน้ำซี 95 จำนวน 7 แฉกส่งน้ำ ( แฉกส่งน้ำ ซี 95 – 1 ถึง 7) และพื้นที่ส่งน้ำของคลองส่งน้ำ ซี 1 จำนวน 2 แฉกส่งน้ำ (แฉกส่งน้ำ ซี 1 – 150 ,ซี 1 – 151) หมู่ 6 บ้านใหม่ ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร


แผนการดำเนินการวิจัย
1. จัดประชุมทีมวิจัย เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานวิจัยร่วมกัน และทำการคัดเลือกพื้นที่แฉกส่งน้ำตัวอย่าง (แฉกส่งน้ำ ซี 95–7) เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านใหม่ ในการบริหารจัดการน้ำคลองส่งน้ำ ซี 95

2. จัดประชุมสร้างความเข้าใจเกษตรกรแฉกส่งน้ำ ซี 95–7 ให้เข้าแนวทางวิธีการทำวิจัยท้องถิ่น

3. ทำการเก็บข้อมูลศึกษาข้อมูลด้านทุนเดิมของชุมชน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสภาพพื้นที่ ปัญหา/สาเหตุการใช้น้ำและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ โดยการจัดเวทีประชุมเกษตรกรแฉกส่งน้ำ ซี 95–7 และลงพื้นที่เก็บข้อมูลรายบุคคล

4. จัดเวทีประชุมเกษตรกรแฉกส่งน้ำ ซี 95-7 นำเสนอผลการวิเคราะห์และสรุปข้อมูล เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกิจกรรมแก้ปัญหาในแฉกส่งน้ำ ซี 95 – 7 และจัดทำแผนกิจกรรมช่วงที่ 2

5. ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำจากแฉกส่งน้ำซี 95 - 7 โดยใช้ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาของทีมวิจัยร่วมกับเกษตรกรชุมชนบ้านใหม่ (ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำในการทำนาจากแฉกส่งน้ำ ซี 95-7 พร้อมกับเก็บข้อมูลแฉกอื่นต่อไป)

6. ดำเนินการศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านใหม่ในการบริหารจัดการน้ำคลองส่งน้ำ ซี 95 เปลี่ยนจากแฉกส่งน้ำ ซี 95-7 เป็นแฉกส่งน้ำอื่นๆ (แฉกส่งน้ำ ซี 95-3, ซี 95-1, ซี 95-2, ซี 95-4, ซี 95-5, ซี 95-6, ซี 1-150 และซี 1-151 ตามลำดับ) โดยดำเนินการตามลำดับตั้งแต่ข้อ 2 ถึง 4 จนครบทุกแฉกส่งน้ำ

7. ประชุมประจำเดือนทีมวิจัยและคณะทำงาน เพื่อวิเคราะห์/ประมวลผลข้อมูล ติดตามและปรับแผนให้สอดคล้องตามสถานการณ์

8. ประชุมทีมวิจัยเพื่อนำเสนอและสรุปผลจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำในการทำนาจากแฉกส่งน้ำซี 95–7 และแฉกส่งน้ำอื่นๆ สรุปบทเรียนการดำเนินการวิจัยในช่วงระยะที่ 1


ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ข้อมูลสภาพและศักยภาพของชุมชนบ้านใหม่ในการบริหารจัดการน้ำคลองส่งน้ำซี 95 ทั้งระบบ
2. ได้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาการใช้น้ำในการทำนาในคลองส่งน้ำซี 95 ทั้งระบบ
3. ได้กระบวนการสร้างให้กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชุมชนบ้านใหม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำคลองส่งน้ำซี 95
4. ได้แผนงานระยะที่ 2 แนวทางและการดำเนินงานที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำคลองส่งน้ำซี 95 ทั้งระบบ


************************************

โครงการวิจัย
รหัสโครงการ : RDG49E0008
ชื่อโครงการ : การพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนร่วมกันระหว่างโรงเรียนบ้านหัวช้างโคกม่วงและชุมชน
ชุดโครงการ : การศึกษากับชุมชน
ชื่อหัวหน้าโครงการณ์ : นาย ประพันธ์ ขันโมลี
ระยะเวลาโครงการ : 1 ปี 6 เดือน | เริ่มต้น : 1/2/2006 , สิ้นสุด :
แสดงงานวิจัยที่
นำไปใช้ประโยชน์ : RDG49E0008 จำนวน 0 เรื่อง
จำนวนเปิดอ่าน : 563 ครั้ง
สถานภาพโครงการ : ขยายระยะเวลา โดยนักวิจัย
ไฟส์สรุปย่อ : ยังไม่มี

วัตถุประสงค์โครงการ :
1. เพื่อศึกษาทัศนคติ พฤติกรรมและปัญหาของเด็กและเยาวชนในสถานการณ์ปัจจุบัน 2. เพื่อศึกษาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนที่ชุมชนต้องการ 3. เพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กและเยาวชน ระหว่างโรงเรียนและชุมชน 4. เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนให้เป็นตามความต้องการของชุมชน 5. เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาที่เกิดขึ้น

ความสำคัญ/ที่มาของปัญหา :
อุดมการณ์สำคัญของการศึกษาคือ การศึกษาที่สร้างคุณภาพชีวิตและสังคมบูรณาการอย่างสมดุลระหว่าง ปัญญาธรรม คุณธรรม และวัฒนธรรม เป็นการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคนไทยทั้งปวง มุ่งสร้างพื้นฐานที่ดีในวัยเด็ก ปลูกฝังความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ตั้งแต่วัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อการทำงานที่มีคุณภาพโดยให้สังคมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน และสามารถตรวจสอบได้อย่างมั่นใจว่าการศึกษาเป็นกระบวนการของการพัฒนาชีวิตและสังคม เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งตนเองและพึ่งกันเองได้ และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ โดยมี เป้าหมายของการจัดการศึกษาอยู่ที่การพัฒนาคนไทยทุกคนให้เป็น “คนเก่ง คนดี และมีความสุข” จากบทบัญญัติของรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 81 ที่มีสาระบัญญัติให้รัฐต้องจัดการศึกษา อบรม และสนับสนุนการจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม ปรับปรุงการศึกษาให้ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมสร้างเสริมความรู้และปลุกจิตสำนึกที่ถูกต้อง และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 8 ที่ให้ยึดหลักจัดการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน และให้สังคมมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาทั้งในด้านการบริหารจัดการ การปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอน และการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ผลจากการดำเนินการยังพบว่าคุณภาพของผู้เรียนทั้งในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนยังค่อนข้างต่ำ มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หลายด้าน เช่น มีค่านิยมฟุ่มเฟือย มั่วสุมอบายมุข มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม ไม่ใฝ่เรียนใฝ่รู้ เป็นต้น สังคมขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการจัดการศึกษาส่งผลให้คุณภาพของ ผู้เรียนยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โรงเรียนบ้านหัวช้างโคกม่วง ซึ่งเป็นสถานศึกษาขนาดเล็กที่มีภารกิจรับผิดชอบจัดการศึกษาระดับปฐมวัย (ชั้นอนุบาลปีที่ 1-2) และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานช่วงชั้นที่ 1-2(ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6) สำหรับ ประชากรวัยเรียนในเขตบริการ คือ บ้านหัวช้าง หมู่ที่ 4 และบ้านโคกม่วง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านกู่ อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับชุมชนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในความรับผิดชอบให้ดียิ่งขึ้น จึงมีการจัดเวทีระดมความคิดของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องขึ้นในวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 และ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2548 ผลจากการระดมความคิด พบว่า เด็กและเยาวชนในเขตบริการยังมีปัญหามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น เล่นการพนันในชุมชน มั่วสุม ทะเลาะวิวาท ฟุ่มเฟือยใช้เวลาว่างไม่เกิดประโยชน์ ขาดสำนึกรักชุมชน ทั้งที่ในชุมชนมีปัจจัยเอื้อในการพัฒนาหลายประการ ได้แก่มีภูมิปัญญาที่มีคุณค่ามากมายสมควรได้รับการสืบทอดส่งต่อเพื่อให้คงอยู่คู่กับชุมชน มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนให้ความร่วมมือกับโรงเรียนดี แต่ยังขาดการวางแผนกำหนดแนวทางและนำสู่การปฏิบัติให้เกิดผลร่วมกันอย่างจริงจัง ดังนั้นโรงเรียนบ้านหัวช้างโคกม่วงและชุมชนในเขตบริการจึงตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกันพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่ชุมชนต้องการ

คำถามวิจัย :
โรงเรียนบ้านหัวช้างโคกม่วงและชุมชนจะมีกระบวนการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กและ เยาวชนร่วมกันได้อย่างไร

******************************

โครงการวิจัย
รหัสโครงการ : RDG50E0013
ชื่อโครงการ : การแก้ไขปัญหากลุ่มเยาวชนที่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตำบลหนองภัยศูนย์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
ชุดโครงการ : เด็ก เยาวชน และครอบครัว
ชื่อหัวหน้าโครงการณ์ : นาย สุกัน พาอยู่สุข
ระยะเวลาโครงการ : 1 ปี | เริ่มต้น : 1/4/2007 , สิ้นสุด :
แสดงงานวิจัยที่
นำไปใช้ประโยชน์ : RDG50E0013 จำนวน 0 เรื่อง
จำนวนเปิดอ่าน : 536 ครั้ง
สถานภาพโครงการ : ดำเนินการโครงการ
ไฟส์สรุปย่อ : ยังไม่มี

วัตถุประสงค์โครงการ :
1.เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ของเด็กในกลุ่มเด็ก
และเยาวชน
2.เพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการจัดการกับปัญหาแบบมีส่วนร่วมของพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ในเด็กและเยาวชน
3.เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติดให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่ตำบลหนองภัยศูนย์


ความสำคัญ/ที่มาของปัญหา :
“กลุ่มวัยรุ่น คือวัยที่มีช่วงอายุระหว่าง ๑๐ – ๑๒ ปี ซึ่งเด็กในวัยนี้มักจะมีความแตกต่างกันระหว่างวัยผู้หญิงมักเจริญเติบโตได้เร็วกว่าผู้ชาย มักจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ ๑๐ จนถึง ๑๘ ปี ผู้ชายมักจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ ๑๓ ปี ไปจนถึง ๒๕ ปี และจะหยุดการเจริญเติบโต นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก จนอาจเกิดความยุ่งยากในการปรับตัวเกิดความสับสนไม่มั่นใจในตนเอง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ ซึ่งปัญหาโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม และปัญหาที่ สอง มักจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมไม่เหมาะสมตามวัย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ในเขตตำบลหนองภัยศูนย์ ประกอบด้วย ๑๐ หมู่บ้าน ดำเนินการปกครองโดย องค์การบริหารส่วนตำบลหนองภัยศูนย์ จำนวนหลังคาเรือน ๑,๔๐๕ หลังคาเรือน ประชากร ๖,๙๕๗ คน มีโรงเรียน ๓ แห่ง รวมโรงเรียนขยายโอกาส ๑ แห่ง และกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวมักแสดงพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ การจับกลุ่มกินเหล้า สูบบุหรี่ การทะเลาะวิวาท การเล่นการพนัน การแข่งรถซิ่ง

ปัญหาในกาสูบบุหรี่และดื่มสุราในกลุ่มเด็กวัยรุ่นในพื้นที่ ตำบลหนองภัยศูนย์มากกว่าร้อยละ ๗๐ ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ยังมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องในเรื่องการเสพของมึนเมาโดยเฉพาะการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง ๕ ปีที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์ความรุนแรงในกลุ่มเด็กวัยรุ่น อายุ ๑๐ ปี ถึง ๑๘ ปี จำนวน ๘๖๗ คน เป็นชาย ๔๒๐ คน พบว่ามากกว่าร้อยละ ๗๐ พบว่า มีกลุ่มวัยรุ่นจับกลุ่มประมาณ ๓ - ๕ คน ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ชายมักจะแอบไปสูบบุหรี่ในบริเวณป่าหลังโรงเรียน ในห้องน้ำ มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในช่วงพักเที่ยงหรือช่วงเวลาที่คุณครูไม่อยู่ในโรงเรียน จากการบอกเล่าของเพื่อนนักเรียนหญิงในโรงเรียนแห่งหนึ่ง และจากการสังเกตุของผู้ปกครองที่เดินผ่านมาผ่านไปแถวๆโรงเรียน และนอกจากนั้นยังพบได้ว่า ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนนักเรียนเหล่านั้นก็จับกลุ่มคุยกันพร้อมสูบบุหรี่และซื้อเหล้าขาวมาดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน อย่างหน้าตาเฉย โดยไม่ได้มีความสำนึกถึงโทษภัยอันตรายเหล่านั้น ไม่คำนึงถึงผู้ปกครอง เลยว่าจะเสียใจมากน้อยแค่ไหนเมื่อรู้ว่าลูกชายที่ตนเองรักนั้น แอบไปสูบบุหรี่และดื่มสุราในขณะที่อยู่ในวัยเรียนซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่เหมาะสมแก่วัย ทำให้ทีมงานวิจัยชาวบ้าน เกิดคำถามขึ้นในใจว่า อะไรทำให้เด็กเหล่านั้นต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมเขาคิดได้แค่นี้ หรือว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้เขาต้องประพฤติตนไม่เหมาะสมอย่างนั้น ทำไมเด็กบางกลุ่มถึงไม่ทำอย่างนั้น แล้วพวกเราไม่มีวิธีไหนที่จะช่วยให้เด็กเหล่านั้นเขามีความคิดที่ถูกต้องที่ดีเหมาะสม ไม่ได้หรือไง หรือพวกเราจะปล่อยเขาไปตามทางที่ไม่ถูกต้องอย่างนั้น พวกเรานักวิจัยชาวบ้านน่าจะมีวิธีช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร

คำถามวิจัย :
๑. อะไรที่เป็นปัจจัยให้กลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในพื้นที่ตำบลหนองภัยศูนย์ยังมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ ?
๒. ชุมชนในเขตตำบลหนองภัยศูนย์จะมีแนวทางและวิธีการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ได้อย่างไร ?


พื้นที่ศึกษา :
พื้นที่เป้าหมาย ๕ หมู่บ้านในเตตำบลหนองภัยศูนย์ โดย ระยะแรกจะทำการศึกษาในเขตพื้นที่ โรงเรียน ไทยรัฐวิทยา ๘๑ ซึ่งประกอบด้วย 1) บ้านดอนยานาง 2) บ้านหนองภัยศูนย์เหนือ 3) บ้านหนองภัยศูนย์ใต้
4) บ้านนาลาดควาย และ 5) บ้านหว้าทอง



ขั้นตอนการดำเนินงาน
1. ประชุมทีมวิจัย / ที่ปรึกษาเพื่อวางแผนการทำงานตามโครงการวัยและกำหนดบทบาทหน้าที่ของทีมวิจัยที่
เข้าร่วมโครงการ ๕๐ คน
2.สำรวจกลุ่มวัยรุ่นทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่และแอลกอล์ฮอล์
3.ศึกษาข้อมูลตามเนื้อหาที่ต้องการโดยแยกกิจกรรมดังนี้
๓.๑ การประชุมเพื่อวางแผนการสำรวจและวิธีการสำรวจ
๓.๒ ทีมวิจัยประชุมจัดทำแบบการบันทึกข้อมูลการสำรวจ
๓.๓ ดำเนินการสำรวจร่วมกันระหว่างทีมวิจัยและตัวแทนของชุมชนโดยแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ ( กลุ่มวัยรุ่น ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการร้านค้า )
4.ประชุมทีมวิจัยและที่ปรึกษาเพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพร้อมสรุปประเด็นสาระที่สำคัญในการทำวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์ในการนำเสนอเวทีต่อไป
5.จัดนำเสนอข้อมูลและเพิ่มเติมข้อมูลต่อผู้นำชุมชน กลุ่ม อสม. องค์การบริหารส่วนตำบล และผู้บริหารสถานศึกษา
6.จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากชุมชนเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการจัดประชุมกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม ประชุม 9 ครั้ง
7.จัดค่ายเสริมสร้าง พัฒนาทักษะชีวิต (คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ) โดยศึกษาถึงวิธีคิด อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คิดอย่างนั้น และการจัดการกับแนวความคิดต่างๆเหล่านั้น “ ค่ายชีวิตนี้ยังมีค่ามากกว่าที่เราเห็นและเป็นอยู่”
8.ทดลองนำแนวทางที่ได้มาช่วยในการแก้ไขปัญหาที่เด็กกลุ่มวัยรุ่นมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่และแอลกอล์ฮอล์
9.ประชุมทีมวิจัยที่ปรึกษา สรุปผลการทดลองและปรับแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาของกลุ่มวัยรุ่นมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่และแอลกอล์ฮอล์
10.ประชุมทีมวิจัย ที่ปรึกษา สรุปรวบรวมข้อมูลที่ศึกษาและจัดทำเค้าโครงหัวข้อการเขียนรายงานผลการศึกษา
11.จัดทำรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์



ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ข้อมูลสถานการณ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กและ เยาวชนตำบลหนองภัยศูนย์
2. ได้แนวทางในการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯโดยชุมชนมีส่วนร่วม
3. เด็กและเยาวชนตำบลหนองภัยศูนย์ มีทักษะชีวิตด้านการป้องกันยาเสพติด


************************

โครงการวิจัย
รหัสโครงการ : RDG45N0018
ชื่อโครงการ : ชุมชนกับการจัดการแก้ไขปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ กรณีศึกษา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
ชุดโครงการ : เด็ก เยาวชน และครอบครัว
ชื่อหัวหน้าโครงการณ์ : นาย อภิเดช ชัยราชา
ระยะเวลาโครงการ : | เริ่มต้น : 1/2/2002 , สิ้นสุด : 18/8/2005
แสดงงานวิจัยที่
นำไปใช้ประโยชน์ : RDG45N0018 จำนวน 1 เรื่อง
จำนวนเปิดอ่าน : 412 ครั้ง
สถานภาพโครงการ : สิ้นสุดโครงการ
ไฟส์สรุปย่อ : ยังไม่มี

วัตถุประสงค์โครงการ :
วิจัย1. เพื่อสร้างความตระหนักให้กับชุมชนเกี่ยวกับปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน2. เพื่อศึกษากระบวนการเพิ่มศักยภาพชุมชนในการแก้ไขปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์อย่างมีส่วนร่วม 3. เพื่อค้นหากระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ที่เหมาะสมโดยชุมชน

ความสำคัญ/ที่มาของปัญหา :
บ้านดงขี้เหล็กหมู่ 4 ตำบลแช่ช้าง,หมู่ 13 ต.บวกค้าง,หมู่ 3 ต.ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว และทำสวนยาสูบเป็นส่วนใหญ่ ในรอบ10 ปีที่ผ่านมาวิกฤตการณ์โรคเอดส์แพร่เข้ามายังชุมชนทำให้ผู้คนป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เด็กที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อเอดส์ก็เป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เช่นการถูกรังเกียจจากชาวบ้าน การไม่คบค้าสมาคมกับผู้ที่ติดเชื้อเอดส์และเด็ก เมื่อผู้ติดเชื้อเอดส์ป่วยและเสียชีวิตลง ปรากฏว่ามีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมีผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ในชุมชนได้เห็นปัญหาจึงได้มีการสร้างความเข้าใจกับชุมชนในการรณรงค์ป้องกัน การสนับสนุนด้านอาชีพ สร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน อีกทั้งยังมีการประสานทั้งภายในและภายนอกในการแก้ไขปัญหา และร่วมวิจัยกับชุมชนเพื่อค้นหาว่ามีเหตุปัจจัยเงื่อนไขอะไรที่ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยชุมชน

คำถามวิจัย :
ชุมชนจะมีกระบวนการในการจัดการแก้ไขปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเ อดส์อย่างไร และจะมีปัจจัยเงื่อนไขใดที่จะทำให้บุคคลกลุ่มรวมถึงองค์กรทั้งในและบอกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ในที่สุด

พื้นที่ศึกษา :
ชุมชนจะมีกระบวนการในการจัดการแก้ไขปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเ อดส์อย่างไร และจะมีปัจจัยเงื่อนไขใดที่จะทำให้บุคคลกลุ่มรวมถึงองค์กรทั้งในและบอกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ในที่สุด






เข้าชม : 477

บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      โดนๆ 18 / ก.ย. / 2557
      เลี้ยงไก่ไข่ด้วยอีแวป...ทำไบโอแก๊สลดค่าใช้จ่าย 3 / ธ.ค. / 2551
      ชื่อโครงการ 10 / ก.ค. / 2551
      Concept คุณจะสร้างเวบเกี่ยวกับอะไร 4 / ก.พ. / 2551
      สธ.พบคนงานเจียรหินแถวเขายายเที่ยงดับด้วยโรคปอดหินคนแรกของประเทศ 22 / ม.ค. / 2551