สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ เมืองเอดินเบอระ สกอตแลนด์ ประเทศอังกฤษ ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

เมื่อแรกประสูติ ดำรงพระอิสริยยศเป็นหม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล (พระนามพระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) สถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา โดยคณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ทรงเป็นกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ทรงเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ทรงกรมเป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียวในรัชกาล และเป็นพระราชวงศ์ทรงกรมพระองค์เดียวในปัจจุบัน) เมื่อพระชนมายุครบ 72 พรรษา เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อทรงเสกสมรสกับ พันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ มีพระธิดาหนึ่งพระองค์ คือท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (สมรสกับนายสินธู ศรสงคราม มีบุตร คือคุณจิทัศ ศรสงคราม)
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ให้กลับคืนดำรงพระอิสริยศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ทุกประการ

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเสกสมรสอีกครั้งกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธารดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และหม่อมระวี ไกยานนท์)

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายพระราชทานความช่วยเหลือให้แก่ประเทศชาติ แบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีโครงการในพระอุปถัมภ์หลายร้อยโครงการ ทั้งด้านการแพทย์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ นอกจากนี้ยังทรงพระอัจฉริยภาพในด้านการประพันธ์ พระนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง เช่น เวลาเป็นของมีค่า แม่เล่าให้ฟัง จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ และ มหามงกุฎราชสันตติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงสำเร็จการศึกษา วิทยาศาสตร์ด้านวิชาเคมี ควบคู่กับวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และ จิตวิทยา เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย ได้ทรงรับคำกราบบังคมทูลเชิญจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เพื่อให้ทรงบรรยายและเป็นพระอาจารย์ประจำสถาบันต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี

ระหว่างพุทธศักราช 2493-2501 เป็นพระอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส และวรรณคดีฝรั่งเศส
พุทธศักราช 2512 ทรงรับเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงสอนและทรงงานด้านการบริหารในหน้าที่หัวหน้าสาขาวิชาภาษาต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ป่น จีน และ รัสเซีย ทรงเป็นผู้ดูแลและจัดทำหลักสูตร ดูแลการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
พุทธศักราช 2516 ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จ ด้วยการผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม ทรงเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 8 ปี จากนั้นจึงทรงขอเป็นอาจารย์พิเศษอย่างเดียวด้วยต้องทรงติดตามพระราชภารกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้านหน่วยแพทย์เคลื่อนที่
อย่างไรก็ตาม น้ำพระหฤทัยในความเป็นครูนั้นเปี่ยมล้นมิเหือดหาย ทรงรับเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ขอมาตลอด ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หลายรุ่น ด้วยประสบการณ์และพระปรีชาญาณในการสอนภาษาฝรั่งเศสเป็นเวลาอันยาวนาน
พุทธศักราช ๒๕๐๒ ทรงก่อตั้ง "สมาคมครูสอนภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย" เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ในการแก้ไขการสอนให้กับบรรดาครูทั้งหลาย
ทรงได้รับการถวายพระเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศส ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญตราชั้นสูงสุด ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๒ สนพระทัยการศึกษาของเยาวชน ได้อุปถัมภ์โครงการ "โอลิมปิควิชาการ" เพื่อการแข่งขันและพัฒนาวิชาการวิทยาศาสตร์ในประเทศให้ก้าวทันสากล
ทรงสร้างสื่อการเรียนให้แก่เด็กเล็กในโรงเรียนชายแดน ที่มิได้มีโอกาสเรียนชั้นอนุบาล เพื่อสามารถอ่านเขียนทันเด็กที่เรียนล่วงหน้าไปก่อนเกณฑ์ และร่วมสร้างโรงเรียนในความดูแลของตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนเด็กในกรุงเทพมหานครนั้น ทรงให้ความอนุเคราะห์เด็กเล็กในสลัมต่างๆ
แม้ว่าจะทรงงานการสอนมากมาย หากแต่พระกรณียกิจสำคัญที่ทรงปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่แรก คือ การสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยตามเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ นอกจากการพระราชทานสิ่งอำนวยความสะดวกเครื่องใช้ประจำวัน และยารักษาโรคจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ตามเสด็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ยังโปรดส่งเสริมการเรียนการสอนของโรงเรียนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เสด็จถึงอีกด้วย
เมื่อทรงหยุดการสอน พระกรณียกิจส่วนใหญ่ จึงเป็นงานสังคมสงเคราะห์ ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม นอกจากช่วยโครงการแพทย์อาสาในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พอ.สว. แล้ว มีมูลนิธิ กองทุน สมาคม ศูนย์สงเคราะห์ อีกจำนวนมากกว่า 30 รายการ ที่พระองค์ทรงมีภาระในการบริหาร เช่น มูลนิธิโรคไต มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิขาเทียม มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิโลกสีเขียว กองทุน "หมอเจ้าฟ้า" กองทุนการกุศล กว. กองทุนการกุศล "สมเด็จย่า" สมาคมปราบวัณโรคเชียงใหม่ สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย ศูนย์เด็กอ่อนวัยก่อนเรียน ณ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพกรุงเทพฯ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับการอภิบาลให้มีพระจริยวัตรโปรดการอ่าน การศึกษามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สั่งสมประสบการณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี สิ่งแวดล้อม และทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองตลอดเวลา
ด้วยความสนพระทัยในศาสตร์ทั้งหลาย จึงทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้านักประพันธ์ และเจ้าฟ้านักวิชาการ มีหนังสือพระนิพนธ์จำนวนมาก ที่จัดพิมพ์ขึ้นให้ได้ศึกษาหาความรู้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่อง แม่เล่าให้ฟัง หรือ ยุวกษัตริย์ มิใช่เป็นเรื่องประวัติบุคคลด้านเดียว หากแต่ให้ความเข้าใจทั้งประวัติศาสตร์ ประเพณี การเมือง อันเป็นวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งมีความสนุกสนานสอดแทรกไว้อย่างกลมกลืน หรือสารคดีข่าวเกี่ยวกับการเสด็จไปทัศนศึกษาในต่างถิ่น เป็นสิ่งที่ชาวไทยโชคดีที่ได้มีโอกาสเห็น เสมือนร่วมเดินทางไปกับพระองค์ด้วย โดยจะทรงพิถีพิถันให้จัดทำเป็นสารคดีท่องเที่ยวสั้นๆ ที่มากด้วยความรู้ นำเผยแพร่เกือบทุกครั้งทำให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสไปถึง หูกว้างตากว้างไปด้วย
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิ.ย. ๒๕๕๐ แม้ว่าคณะแพทย์ฯ ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และได้สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๐๒.๕๔ น. วันที่ ๒ ม.ค. ๒๕๕๑ รวมพระชันษา ๘๔ ปี