[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 


เนื้อหา : เรื่องเด่นวันนี้
หมวดหมู่ : ข่าวเด่น
หัวข้อเรื่อง : ราชาศัพท์ต้องรู้ ช่วงวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

อังคาร ที่ 29 เดือน มีนาคม พ.ศ.2559


 
นื่องในโอกาส วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๖๑ พรรษา ๒ เมษายน ๒๕๕๙ ระหว่างนี้พบว่า ยิ่งใกล้วันก็ยิ่งพบหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมจัดกิจกรรม จัดนิทรรศการ ขึ้นคัตเอ้าต์หรือไวนีล ตลอดรวมไปถึงประชาชนทั่วไป และสังคมออนไลน์ มีการใช้ราชาศัพท์ผิดและสับสนกันอยู่มาก จากการสังเกตผมพบว่า มีหลายคำที่ไม่ควรละเลย และต้องระวังตรวจสอบการใช้เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนได้ว่าเราตั้งใจที่จะแสดงความจงรักภักดี อย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเพียงเป็นรูปแบบ จึงได้ใส่ใจสนใจที่จะใช้ให้ถูกต้องและสมพระเกียรติพระองค์ท่าน โดยมีคำหลักๆ ดังนี้...
๑.การขานพระนาม "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"
ตาม หนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล ๐๐๐๓/๓๘๓๔ ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๔ ได้ระบุการขานพระนาม "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ไว้ดังนี้ว่า... 
สม-เด็ด-พฺระ-เทบ-พะ-รัด-ราด-สุ-ดา-สะ-หฺยาม-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-กุ-มา-รี
พระอิสริยยศ : สยามบรมราชกุมารี
ฐานันดรศักดิ์ : เจ้าฟ้าชั้นเอก
๒.ต้องใช้ "เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ" ไม่ใช่ "เนื่องในวโรกาส...”
มีคนจำนวนมากใช้ผิดว่า "เนื่องในวโรกาส วันคล้ายวันพระราชสมภพ..." ซึ่งใช้ผิด เพราะ คำว่า "วโรกาส" มีธรรมเนียมการใช้เฉพาะเมื่อ "ขอโอกาส" จากพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์กล่าวคือ หากจะขอโอกาสพระมหากษัตริย์ ใช้ราชาศัพท์ว่า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส
เมื่อขอโอกาสสมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ราชาศัพท์ว่า ขอพระราชทานพระราชวโรกาส และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้โอกาส ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชทานพระบรมราชวโรกาส เมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้โอกาส ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชทานพระราชวโรกาส
ดังนั้น ในกรณีอื่นๆ นอกจากการ "ขอโอกาส" และการ "ให้โอกาส" แล้ว จะไม่ใช้คำว่า "วโรกาส" แต่ให้ใช้ว่า "โอกาส" 
ตัวอย่างรูปประโยคที่ถูกต้อง...เนื่องในโอกาส วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๖๑ พรรษา ๒ เมษายน ๒๕๕๙
.
.
๓.ต้องใช้ "พระชนมายุ...พรรษา" ไม่ใช่ “พระชันษา...ปี"
คำว่า "พระชนมายุ" (พระ-ชน-นะ-มา-ยุ) แปลว่าอายุ ใช้สำหรับ ฐานันดรศักดิ์ เจ้าฟ้าชั้นเอกหรือพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี ส่วนคำว่า ปี ใช้ว่า พรรษา เช่น ปีนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุ ๖๑ พรรษา
รวมไปถึงคำถวายพระพรชัยมงคล ต้องใช้คำว่า "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน" ไม่ใช่ "มีพระชันษายิ่งยืนนาน"
คำว่า “พระชันษา...ปี” (อายุ...ปี) ใช้แก่ ชั้นพระองค์เจ้า ลงมาถึงชั้นหม่อมเจ้า ซึ่งเป็นการใช้ไม่สมพระเกียรติพระองค์ท่าน ซึ่งมีฐานันดรศักดิ์ ที่สูงกว่า
๔.ควรใช้ "ถวายพระพร" หรือ "ถวายพระพรชัยมงคล"
มีผู้รู้บอกว่า "ถวายพระพร" เป็นคำที่พระสงฆ์ใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์ ฉะนั้น สำหรับเราทั้งหลายซึ่งเป็นสามัญชนโดยทั่วไป ท่านจึงแนะนำให้ใช้ว่า "ถวายชัยมงคล" แต่คนทั่วไปก็ชอบที่จะพูดและเขียนว่า "ถวายพระพร" ซึ่งผิด ปัจจุบัน อนุโลมให้ใช้เพื่อกล่าวโดยรวม หากว่าการนั้น มีผู้แสดงความจงรักภักดีและร่วมลงนาม มีทั้งพระและสามัญชน จึงให้ใช้คำว่า "ถวายพระพรชัยมงคล"
.
.
๕ไม่มีธรรมเนียมการใช้คำว่า "น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล"
ระหว่างนี้ผมผ่านตาหลายเพจมีข้อความการถวายพระพรชัยมงคลโดยใช้คำว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาาฯ สยามบรมราชกุมารี" ซึ่งรูปประโยคนี้ใช้ผิดครับ ควรทราบว่าเพราะคำว่า น้อมเกล้าฯ ถวาย หรือ ทูลเกล้าฯ ถวาย มีธรรมเนียมใช้กับการถวายสิ่งของ เท่านั้น เช่น ถ้าของนั้น ยกได้ ก็ใช้ว่า ทูลเกล้าฯ ถวาย หากของหนัก ยกไม่ได้ ใช้ว่า น้อมเกล้าฯ ถวาย ครับ
อนึ่ง คำว่า "ทูลเกล้าฯ ถวาย" แม้จะเขียนย่อ เวลาอ่านต้องอ่านเต็มว่า "ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย" เช่นเดียวกันกับคำว่า "น้อมเกล้าฯ ถวาย" ต้องอ่านเต็มว่า "น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย" และควรทราบว่า ต้องมีคำว่า "ถวาย" อยู่ด้วยเสมอ หากใช้รูปประโยค "ทูลเกล้าฯ" หรือ "น้อมเกล้าฯ" แบบนี้ผิดแบบแผนการใช้ตามที่สำนักพระราชวังเคยมีหนังสือเวียน แจ้งไปยังสื่อมวลชนทุกแขนงเมื่อเร็วๆ นี้
.
๖.คำลงท้ายเมื่อถวายพระพรชัยมงคลใช้ว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" เพียงเท่านี้
ระหว่าง นี้พบว่ามีการโพสต์พระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวนมาก และหลายคนเข้ามาถวายพระพรชัยมงคล โดยลงท้ายว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ" ซึ่งเป็นการใช้ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ
ควรทราบว่าคำลงท้ายเมื่อกราบบังคมทูล หรือ ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะใช้ว่า...
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม (ไม่ต้องมี ขอเดชะ)
ข้าพระพุทธเจ้า......(นาย/นาง/นางสาว นามของเรา)
กล่าวคือ ใช้แก่ พระอิสริยยศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระบรมราชกุมารี
ส่วนคำว่า
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า......(นาย/นาง/นางสาว นามของเรา)
จะใช้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
กล่าวคือ ใช้แก่ พระราชอิสริยยศ พระมหากษัตริย์ และ พระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เท่านั้น
.
๗.ต้องใช้คำว่า "แสดงความจงรักภักดี" อย่าใช้ผิดเป็น "ถวายความจงรักภักดี"
ระหว่างนี้ มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมสวมเสื้อสีม่วง ในช่วงวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ๒๕๕๙ โดยใช้คำว่า “เพื่อถวายความจงรักภักดี" ซึงเป็นการใช้คำผิด และอาจทำให้คนจำไปใช้ผิดๆ ด้วย ที่ถูกต้องใช้คำว่า “เพื่อแสดงความจงรักภักดี” หรือ “เพื่อแสดงพลังความจงรักภักดี”
ควรทราบว่า "ความจงรักภักดี" จะนำมาถวายกันไม่ได้ หรือ ยกให้กันไม่ได้ เพราะเป็นคุณลักษณะส่วนบุคคล เป็นนามธรรม จึงควรทราบว่าการใช้คำว่า "ถวายความจงรักภักดี" เป็นการใช้คำไม่ถูกต้องตามหลักการใช้คำราชาศํพท์ครับ
ผมได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังบอกว่า ที่ถูกต้องจะต้องใช้คำว่า "แสดงความจงรักภักดี" เช่น "ประชาชนต่างออกมาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ เพื่อแสดงความจงรักภักดี" หรือ "ขอเชิญร่วมแสดงพลังความจงรักภักดี" หรือ "มีความจงรักภักดี" แบบนี้จึงจะถูกต้องตามแบบแผนการใช้
.
.
และยังไม่อีกคำราชาศัพท์ ที่พบใช้ผิดกันมากคือ "รูปถ่าย" เมื่อใช้แก่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต้องใช้ว่า "พระฉายาลักษณ์" ระวังอย่าใช้ผิดเป็น "พระบรมฉายาลักษณ์"เพราะคำนี้ใช้แก่ พระมหากษัตริย์ เท่านั้น
ที่มา  http://www.oknation.net/blog/tewson/2016/03/25/entry-1
 


เข้าชม : 4768


ข่าวเด่น 5 อันดับล่าสุด

      ร่วมพิธีทอดผ้าป่าการศึกษา 15 / มี.ค. / 2561
      ขอน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ธ ผู้อยู่ในใจไทยทั้งชาติ 16 / ต.ค. / 2559
      ราชาศัพท์ต้องรู้ ช่วงวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 29 / มี.ค. / 2559
      โครงการค่ายยุวกาชาดตามรอยพระยุคลบาทสร้างคนดีให้คู่คุณธรรม 15 / ก.พ. / 2559
      ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคลและพิธีวางพานพุ่ม เนื่องในวันพ่อ 5 ธันวาคม 2559 9 / ธ.ค. / 2558