[x] ปิดหน้าต่างนี้
 


 
 

การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ตามปรัชญา คิดเป็น และยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ผู้เรียนแต่ละคนมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน ทั้งด้านวัย วุฒิภาวะ ความถนัด ความสนใจ วิธีการเรียนรู้ ตลอดจนมีการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นการจัดการเรียนรู้จึงต้องยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเอง ตามธรรมชาติ เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ และเรียนรู้อย่างมีความสุข

1.  ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ การแนะแนว

       การแนะแนวเป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ สถานศึกษาต้องจัดบริการแนะแนว เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพราะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมายควรจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับ วิธีเรียน กศน. ซึ่งมีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเลือกเรียนได้ และจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจบหลักสูตรการศึกษา การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การเทียบโอนผลการเรียน ที่ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียน หรือนำประสบการณ์ มาขอเทียบโอนความรู้ตามหลักสูตรฯ และเรียนเพิ่มเติมบางสาระที่ไม่สามารถเทียบโอนได้  สถานศึกษาจะต้องจัดบริการแนะแนวให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เข้าใจแต่เริ่มต้น เพื่อเขาจะได้ตัดสินใจเลือกเรียนได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของตนเอง

ขั้นตอนที่ 2 การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา

       การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบหลักฐานการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน เช่น การกรอกใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. วุฒิการศึกษา สำเนาทะเบียนบ้านผู้สมัครที่มีชื่อบิดามารดา บัตรประจำตัวประชาชน ใบเปลี่ยนชื่อ – ชื่อสกุล หรือใบทะเบียนสมรส ใบหย่า รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำและไม่สวมหมวก เป็นต้น เมื่อตรวจสอบหลักฐานและใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้กรอกใบลงทะเบียนเรียน การลงทะเบียนเรียนนั้น นักศึกษาต้องยื่นขอลงทะเบียนเรียนตามสาระรายวิชาที่สถานศึกษาเปิดสอนและตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดให้ลงทะเบียนได้ตามวันเวลาที่กำหนด

ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 12 – 14 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 14 – 16 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 18 – 20 หน่วยกิต

     ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาที่เปิดให้ลงทะเบียน    

ขั้นตอนที่ การปฐมนิเทศ และการวางแผนการเรียน

    การปฐมนิเทศและการวางแผนการเรียน เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้เรียน สถานศึกษาต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเรียน กศน. การวัดผลและประเมินผล ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ลงทะเบียนเรียนได้เลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม ตามความต้องการ สอดคล้องกับวิถีชีวิต และการทำงานของผู้เรียน เช่น การเรียนแบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน และการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ ซึ่งการเรียนรู้ตามรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว ในแต่ละรายวิชาผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรืออาจเลือกการเรียนหลาย ๆ รูปแบบ ได้ตามความต้องการและความเหมาะสมของผู้เรียน ที่ผู้เรียนคิดว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษา  สถานศึกษาจะต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว

ขั้นตอนที่ การวัดและประเมินผล

    การวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรฯหรือนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน โดยตรง และนำไปปรับปรุงแก้ไขการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งการนำไปใช้ในการพิจารณาตัดสินความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน การวัดผลและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช2551 มี ลักษณะ ดังนี้

1.    การวัดและประเมินผลการเรียน

     1.1 การวัดและประเมินผลการเรียนรายวิชา
     1.2 การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
     1.3 การประเมินคุณธรรม

2. การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ

   สถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบการประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของสถานศึกษาให้ชัดเจนเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกันและเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

2.  วิธีเรียน กศน.

การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ยึดหลักการ ดังนี้

1) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
2) พระราชบัญญัติการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พุทธศักราช 2551
3) หลักปรัชญา คิดเป็น

    วิธีเรียน กศน. เป็นวิธีเรียนที่ผู้เรียน ต้องฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ในสถานการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาสาระในแต่ละรายวิชา รวมทั้งการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามสภาพความพร้อมพร้อมและความต้องการของผู้เรียนโดยมีครูเป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร พร้อมทั้งมีการให้บริการแนะแนวหรือระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ด้วยการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แนะนำและร่วมกับผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน ซึ่งวิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ดังที่กล่าวมาแล้วเรียกว่า วิธีเรียน กศน. ซึ่งสามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ โดยพิจารณาจากปัจจัย ดังต่อไปนี้

1. ความพร้อม ความสนใจ และศักยภาพของผู้เรียน
2. ความพร้อมในการบริหารจัดการของสถานศึกษา
3. ความพร้อมและศักยภาพของครูผู้สอน
4. ความยากง่ายของเนื้อหารายวิชา

วิธีเรียน กศน. ตามตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน ซึ่งการเรียนรู้แต่ละรูปแบบมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

2.1 การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม 

      การเรียนรู้แบบพบกลุ่มเป็นการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาข้อสรุปร่วมกัน ทุกสัปดาห์ครูจะต้องจัดให้มีการพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ ชั่วโมง

หลักการในการจัดการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม มีดังนี้

1) จัดพบกลุ่มในรายวิชาที่ยากปานกลาง
2) เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับครู
3) ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการศึกษาค้นคว้า เป็นรายบุคคล  เป็นกลุ่ม และการทำโครงงาน
4) จัดกระบวนกลุ่มที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และสอดแทรกกระบวนการ คิดเป็น ให้ผู้เรียนได้ฝึก คิดวิเคราะห์ในแต่ละรายวิชาที่เชื่อมโยงสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงและอาจสอนเพิ่มเติมในบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ
5) มีการทดสอบย่อย (QUIZ)
6) จัดพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ ชั่วโมง

วิธีดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม มีดังนี้

1) การนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้า ครูให้ผู้เรียนนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรืองานกลุ่ม ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมายจากการพบกลุ่มสัปดาห์ที่ที่ผ่านมา ครูจะต้องทำหน้ากระตุ้นให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ครูและผู้เรียนสรุปองค์ความรู้ร่วมกัน
2) การจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ ครูจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ที่ได้วางแผนการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียนไว้ โดยครูจัดกระบวนการเรียนรู้เพิ่มเติมความรู้ในเนื้อหาสาระที่สำคัญ ที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจและต้องการจะเรียนรู้ โดยครูสอนเพิ่มเติมบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ หรือจัดสอนเสริมนอกเหนือจากเวลาพบกลุ่ม ในเนื้อหาวิชาที่ยาก ที่ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
3) การนำเสนอโครงงาน โดยให้ผู้เรียนนำเสนอความคิด และความก้าวหน้าในการทำโครงงานต่อกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนคนอื่นและครูช่วยกันวิเคราะห์ ซักถาม ให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการต่อยอดหรือพัฒนาความคิดและนำไปสู่การพัฒนาโครงงานในสัปดาห์ต่อไป การนำเสนอโครงงานดังกล่าวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่พบกลุ่มจนสิ้นสุดภาคเรียน
4) การสอบย่อย(QUIZ) เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระ โดยครูและสถานศึกษาเป็นผู้จัดทำข้อสอบย่อย ในลักษณะ ถาม – ตอบ (QUIZ) ให้ผู้เรียนตอบคำถามสั้น ๆ ในลักษณะสรุปความคิดรวบยอด ที่เป็นความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในรายวิชานั้นๆ ของผู้เรียนเอง
5) การฝึกกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ คิดเป็น ให้ผู้เรียนฝึกคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อ เช่น สถานการณ์ ข่าว นสพ. บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ เนื้อหารายวิชาที่กำลังเรียน ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น เสริมแรง ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้ผู้เรียนทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตลอดช่วงเวลาพบกลุ่ม โดยครูตั้งประเด็นคำถามปลายเปิดให้ผู้เรียนได้ร่วมคิด ร่วมอภิปรายเพื่อหาคำตอบ และพยายามเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้จากรายวิชานั้นเข้าสู่วิถีชีวิตของผู้เรียนได้มองเห็นประโยชน์จากการพบกลุ่ม
6) ฝึกให้ผู้เรียนแสดงออก เพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การนำเสนองานประกอบการใช้สื่อ การฝึกพูดในโอกาสต่าง ๆ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง การฟังและจับประเด็นสำคัญ การพูดและการเขียนเพื่อสรุปใจความสำคัญ
7) การวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง คือการที่ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดและนัดหมายการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างสัปดาห์ รวมทั้งเรื่องที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้  และครูจะต้องกำหนดตัวผู้เรียนที่จะมานำเสนองานต่อกลุ่มในสัปดาห์ต่อไป และกำหนดการทำกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนคนอื่น ๆ ด้วย
8) การติดตามและช่วยเหลือผู้เรียน ครูติดตามช่วยเหลือผู้เรียน เพื่อให้คำแนะนำ คำปรึกษาในการเรียน ครูอาจใช้วิธี เพื่อนช่วยเพื่อน คือให้เพื่อน หรือกลุ่มเพื่อนของผู้เรียน คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำคำปรึกษาในการเรียน

2.2 การเรียนรู้ด้วยตนเอง

     การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียน โดยระบุขั้นตอนการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ และมีครูเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในการศึกษาหาความรู้จากสื่อต่าง ๆและแหล่งการเรียนรู้

1)  ลักษณะของผู้เรียนที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง

1.1) สมัครใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการบังคับ
1.2) ผู้เรียนเป็นแหล่งข้อมูล คือสามารถบอกได้ว่าตนเองจะเรียนเรื่องอะไร มีทักษะและข้อมูลอะไรบ้าง  สามารถกำหนดเป้าหมายได้ บอกวิธีการรวบรวมข้อมูลได้ บอกวิธีการประเมินผลการเรียนได้ รู้ถึงความสามารถของตนเอง ตัดสินใจได้ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และเป็นผู้เรียนรู้ที่ดี
1.3) รู้ วิธีการที่จะเรียน คือรู้ขั้นตอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างจึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้
1.4) มีความคิดเชิงบวก มีแรงจูงใจ และสามารถเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น
1.5) มีระบบการเรียน รู้จักประยุกต์การเรียน และสนุกกับการเรียน
1.6) มีการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและความสำเร็จ มีการประเมินผลเองและเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง
1.7) มีความพยายามหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อหาคำตอบ รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้กับสถานการณ์จริง และหาโอกาสในการพัฒนา ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา
1.8) สามารถแสดงความคิดเห็นและ อภิปรายในกลุ่มเรียนอย่างสร้างสรรค์
1.9)  การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นสามารถเก็บข้อมูล และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการเรียน

2) วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง

2.1) การวิเคราะห์และกำหนดความต้องการ ผู้เรียนวิเคราะห์และกำหนดความต้องการในการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความต้องการและความสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ต้องการเรียน
2.2) การกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ผู้เรียนกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ที่มีความเป็นไปได้และสามารถปฏิบัติได้จริง โดยศึกษาจุดมุ่งหมายของรายวิชา แล้วเขียนจุดมุ่งหมายในการเรียน และระบุพฤติกรรมที่คาดหวังหรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่สามารถวัดได้
2.3) การวางแผนการเรียน ผู้เรียนกำหนดแนวทางในการเรียนของตนเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชา กำหนดเวลาเรียน คือกำหนดจำนวนชั่วโมง และจำนวนครั้ง ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำกิจกรรมกลุ่ม พบครูเพื่อขอคำปรึกษา แนะนำ สอนเสริม และกำหนดเวลาที่สิ้นสุดการเรียนของตนเอง
2.4) การเลือกรูปแบบการเรียน คือผู้เรียน เลือกกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองได้แก่แหล่งวิทยาการ  ผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด วัด สถานีอนามัย และสื่อในการเรียน เช่นหนังสือเรียน วีซีดี สื่อคอมพิวเตอร์
2.5) การกำหนดบทบาทผู้ช่วยเหลือในการเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาสาระ และเกิดทักษะยิ่งขึ้น และประสบผลสำเร็จในกาเรียน เช่นมีเพื่อร่วมเรียนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
2.6) การกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียน ครูและผู้เรียน ควรร่วมกันกำหนดวิธีการวัดผลและประเมินผล เช่น กำหนดเครื่องมือวัดผลได้แก่แบบทดสอบต่าง ๆ หรือชิ้นงาน เป็นต้น

3) การทำสัญญาการเรียนรู้

      ในการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องมีการจัดทำข้อตกลงการเรียนหรือสัญญาการเรียนรู้กับครู  เพื่อครูจะได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล

     สัญญาการเรียนรู้ (Learning Contact) คือ ข้อตกลงที่ผู้เรียนได้ทำไว้กับครูว่าผู้เรียนจะปฏิบัติตนอย่างไรในการเรียน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยผู้เรียนจะเป็นผู้เขียนสัญญาการเรียนรู้ ระบุว่าจะเรียนรู้อะไร จะวัดผลด้วยวิธีใด จะมีหลักฐานการเรียนรู้อะไรบ้าง และผลการเรียนควรเป็นอย่างไร เมื่อเขียนเสร็จแล้วจัดทำสำเนาให้ครู ชุด เพื่อครูจะได้ติดตาม ตรวจสอบ ความก้าวหน้าของผู้เรียนแต่ละคน

                                              แบบฟอร์มของสัญญาการเรียนรู้

           จุดมุ่งหมาย แหล่งวิทยาการ/วิธีการ            หลักฐาน      การประเมินผล
1.ระบุว่าผู้เรียนต้องการเรียนรู้เรื่องอะไรและระบุผลสำเร็จของการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องการ ระบุว่าผู้เรียนจะเรียนรู้อย่างไร จากแหล่งความรู้ใด ระบุหลักฐานการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมสามารถนำมาอ้างอิงได้ โดยเก็บรวบรวมเป็นแฟ้มสะสมงาน ระบุว่าผู้เรียนจะสามารถมีผลของการเรียนรู้ในระดับใด

 

3. การเรียนรู้แบบทางไกล

การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยผู้เรียนและครูจะสื่อสารทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ เช่นการเรียนรู้แบบ e – learning

3.1 หลักในการเรียนรู้แบบทางไกล

1) ผู้เรียนต้องมีเครื่องมือที่สามารถสื่อสาร และใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ฯลฯ
2) ผู้เรียนต้องมีเวลาสื่อสารทางอิเลคทรอนิกส์ กับครูตามเวลาที่ได้ตกลงร่วมกันกับครู เช่น Chat room, E – mail, Web board, Blog, face book ฯลฯ
3) สถานศึกษาและครู มีบทบาทในการจัดเตรียมสื่อทางไกล และอำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้แบบทางไกลได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

3.2 วิธีการเรียนรู้แบบทางไกล

1) การศึกษาแนวทางการเรียนรู้แบบทางไกลจากสื่อต่าง ๆ
2) การเรียนรู้จากสื่อทางไกลตามที่สถานศึกษากำหนด
3) การประเมินความรู้ก่อนเรียน คือผู้เรียนประเมินความรู้ของตนเองก่อนเรียน
4) ศึกษาเนื้อหาสาระจากสื่อต่าง ๆ และส่งงานที่ครูมอบหมายตามกำหนด
5) การสื่อสารกับครูตามเวลาที่กำหนด เพื่อขอคำแนะนำ คำปรึกษา และนัดหมายการทำกิจกรรมการเรียนรู้
6) การประเมินความรู้หลังเรียน คือผู้เรียนประเมินความรู้ของตนเองหลังเรียน

4. การเรียนรู้แบบชั้นเรียน

การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เป็นการเรียนรู้ในลักษณะแบบห้องเรียน ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ที่เรียนชัดเจน การเรียนรู้แบบชั้นเรียนเหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียนสม่ำเสมอ

4.1 หลักในการเรียนรู้แบบชั้นเรียน

1) สถานศึกษากำหนดสถานที่เรียนและตารางเรียนที่เหมาะสม
2) จัดให้มีการประชาสัมพันธ์การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เกี่ยวกับสถานที่ วัน เวลาที่เรียนและครูผู้รับผิดชอบให้ผู้เรียนทราบอย่างทั่วถึง
3) สถานศึกษาจัดหาสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่นเครื่องมือ – อุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และโสตทัศนูปกรณ์ ที่มีคุณภาพ
4) ผู้เรียนจะต้องมีเวลามาเรียนตามที่กำหนดไว้ในตารางเรียน

4.2 วิธีดำเนินการจัดการเรียนรู้

1) การจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยครู ผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญ ด้านเนื้อหานั้น ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้กับผู้เรียน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ซักถาม แสดงความคิดเห็นและลงมือฝึกปฏิบัติจริง และครูควรจัดเวลาในการให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียน
2) การจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ เป็นการจัดกระบวนการที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้ระหว่างครูกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียน เช่นกิจกรรมกลุ่ม การจัดที่นั่งเป็นกลุ่ม
3) การจัดให้มีการปรับบทบาทผู้เรียน เช่นการแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย ๆ และมอบหมายงานให้ปฏิบัติ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ครูจะจัดกิจกรรม ลักษณะ ดังนี้

      (1) การให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง
      (2) การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
      (3) การสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู

4) การติดตาม และช่วยเหลือผู้เรียน เช่นจัดบริการแนะแนว จัดบริการให้คำปรึกษา จัดให้มีผู้ช่วยสอน และการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อหรือกลุ่มเพื่อน

   การเรียนรู้ทั้ง รูปแบบ ดังที่กล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนดว่าในแต่ละรายวิชาจะเรียนรู้แบบใด ซึ่งขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาสาระของแต่ละรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้เรียน และขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาในการจัดสอนเสริมเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นสถานศึกษาสามารถออกแบบการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เรียนและความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง   สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553).

เอกสารอ้างอิง

     สมบัติ สุวรรณพิทักษ์,(2543).เทคนิคการสอนแนวใหม่.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

      สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553) แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.กรุงเทพฯ : รังสีการพิมพ์.
 

โครงสร้างหลักสูตร กศน. พื้นฐาน 2551

วันที่ 12 ธ.ค. 2557

 
ผู้เข้าชม : 3492
 

โครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

 

มายเหตุ วิชาเลือกและวิชาบังคับในแต่ละระดับสถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียน เรียนรู้จากการทำโครงงาน จำนวนอย่างน้อย 3 หน่วยกิต

       จากโครงสร้างหลักสูตรดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในรายวิชาบังคับ ตามที่กำหนดไว้ในโครงสร้างหลักสูตร สำหรับรายวิชาเลือกนักศึกษาสามารถเลือกตามรายวิชาที่สำนักงาน กศน. จัดทำขึ้น หรือพัฒนาขึ้นได้ตามความต้องการของผู้เรียนและชุมชน

การลงทะเบียนเรียนรายวิชา
       การลงทะเบียนเรียนตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ให้ลงทะเบียนเรียนเป็นรายวิชาและตามจำนวนหน่วยกิต ในแต่ละภาคเรียนดังนี้
       1. ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต
       2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 16 หน่วยกิต
       3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 20 หน่วยกิต

 

     
 



 
การพิจารณาเลือกรายวิชาต่าง ๆ ลงทะเบียนเรียน
       1. ครู ผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาจัดรายวิชาต่าง ๆ ลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียน
       2. พิจารณาจำนวนหน่วยกิตที่ต้องลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียนให้เป็นไปตามที่กำหนด คือ ระดับประถมศึกษาภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นภาคเรียนละไม่เกิน 16 หน่วยกิต และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภาคเรียนละไม่เกิน 20 หน่วยกิต
       3. พิจารณารายวิชาที่ต้องเรียนรู้ตามลำดับ ก่อน-หลัง หรือตามสถานการณ์ รายวิชาใดต้องเรียนก่อน ก็กำหนดไว้ในภาคเรียนแรก ๆ
       4. ความต่อเนื่องของการลงทะเบียนในรายวิชาต่าง ๆ สถานศึกษาอาจมีการพิจารณาลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนเดียวกัน หรือภาคเรียนถัดไป ทั้งนี้การลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนเดียวกัน ต้องจัดการเรียนรู้ตามลำดับก่อน-หลังของเนื้อหา
       5. กระจายรายวิชาที่ยาก และรายวิชาที่ง่ายให้คละกันไปในแต่ละภาคเรียน เช่นแยกรายวิชาคณิตศาสตร์กับภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ควรลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนเดียวกัน

รายวิชาเลือก
       จากโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ทั้ง 3 ระดับ คือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย มีรายวิชาที่ให้เลือกเรียนจำนวน 12,16,และ 32 หน่วยกิต ตามลำดับในส่วนรายวิชาที่ให้เลือกนั้น ผู้เรียนสามารถเลือกได้ตามความต้องการ หรือตามปัญหาของสังคม หรือของผู้เรียนในขณะนั้นโดยรายวิชาเลือกเหล่านี้อาจจะได้มาจากที่สำนักงาน กศน. หรือสถานศึกษาพัฒนาขึ้นตามความต้องการของผู้เรียน



เข้าชม : 5789
 
 
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอบางละมุง  จังหวัดชลบุรี
50 ม.1 ถ.สุขุมวิท  ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 20150
โทรศัพท์ 0-3822-3565 ต่อ 101, 102, 103, 104, 105 โทรสาร  0-3822-3566 E-Mail:
ict_banglamung@nfe.go.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version   Atsabala Custom