ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการยกระดับการศึกษาประชาชนให้จบ ม.๖ ภายใน ๘ เดือน เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้บริหาร ครู นักเรียน และนักศึกษา กศน.เข้าร่วมกว่า ๔,๐๐๐ คน
รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถฟังและสนทนาภาษาอังกฤษได้ มีความรู้ด้านกฎหมาย สามารถคิดเลขได้ เพื่อจะยกระดับคุณภาพแรงงานไทย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทักษะเพื่อให้สามารถเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ และต้องการให้นักเรียน นักศึกษามาเข้าโครงการจำนวนมาก ซึ่ง ศธ.ได้จัดสถานที่เรียนให้ใน กศน.ตำบลทุกตำบล โดยรัฐบาลได้อุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว จำนวน ๓,๐๐๐ บาทต่อคน รวมค่าแบบเรียน วัสดุ อุปกรณ์ในการเรียนให้อีกด้วย ขณะนี้ กศน.ได้ดำเนินการเพื่อยกระดับการศึกษาให้กับผู้ที่ไม่จบชั้น ม.๖ ที่มีจำนวนกว่า ๑๐ ล้านคนทั่วประเทศ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการ ๑ คณะ มีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธานคณะกรรมการ มีผู้แทนจากองค์กรหลักและภาคเอกชน เป็นกรรมการ เพื่อร่วมพัฒนากรอบแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถภาพความสามารถของผู้ที่ขาดหรือพลาดโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาวิธีเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ทางอาชีพ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ นี้ โดยมีเส้นทางให้เลือก ๓ เส้นทาง ดังนี้
เส้นทางที่ ๑ เทียบ/เรียนจบ ม.๖ ภายใน ๘ เดือน โดยเรียนรู้จาก ๔ Module ได้แก่ ๑) เครื่องมือสร้างความสำเร็จใน ๓ รายวิชา วิชาการใช้คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ธรรมชาติ และการผลิต การตลาด การบริโภคสู่ชุมชน SME ๒) พัฒนาองค์กร-ชุมชนเข้มแข็งใน ๒ รายวิชา วิชาระบอบประชาธิปไตยและการบริหารจัดการชุมชน ๓) การบริหารจัดการชุมชนและพัฒนาสังคมแบบยั่งยืน วิชาการสนทนาภาษาอังกฤษ ๔) ทั่วไปและวิจัยชุมชนใน ๒ รายวิชา วิชาการวิจัยชุมชนและการจัดการอาหารเพื่อครอบครัวและชุมชน ซึ่งผู้เข้าเรียนจะต้องมีสัญชาติไทย มีอายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์ มีอาชีพการทำงานเป็นหลักแหล่ง มีความชำนาญในงานและมีหลักฐานเชิงประจักษ์
เส้นทางที่ ๒ เทียบระดับการศึกษา สามารถเทียบความรู้และประสบการณ์ให้จบ ป.๖ หรือ ม.ต้น หรือ ม.ปลาย โดยการประเมินประสบการณ์ เสนอผลงาน ประเมินจากสภาพจริงและสัมภาษณ์ ด้านการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต สังคมและชุมชน และประเมินด้านความรู้ความคิด ด้านการสื่อสาร การคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจ การแสวงหาความรู้และการใช้เทคโนโลยี การดูแลสุขภาพกายและจิตของตน ความเป็นไทย สากล และพลเมืองดี และความรู้เกี่ยวกับทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการดำรงชีพ ซึ่งผู้ขอเทียบต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่น้อยกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่กำลังอยู่ในระบบ และเป็นผู้มีประสบการณ์ในอาชีพ และประกอบอาชีพอยู่ในเขตบริการเทียบระดับการศึกษา ให้สามารถไปเทียบระดับการศึกษาที่ กศน. อำเภอหรือเขต ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน โดยจะใช้เวลาประมาณ ๖ เดือน
เส้นทางที่ ๓ พบกลุ่ม/ทางไกล โดยการพบกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัปดาห์ละ ๖ ชั่วโมง และการเรียนทางไกล ศึกษาจากสื่อของสถานศึกษา และมีครูที่ปรึกษาให้คำปรึกษาในการเรียน ซึ่งระดับประถม เรียนภาคเรียนละ ๑๔ หน่วยกิต ตลอดหลักสูตรรวม ๔๘ หน่วยกิต ระดับ ม.ต้น เรียนภาคเรียนละ ๑๗ หน่วยกิต ตลอดหลักสูตรรวม ๕๖ หน่วยกิต และระดับ ม.ปลาย เรียนภาคเรียนละ ๒๓ หน่วยกิต ตลอดหลักสูตรรวม ๗๖ หน่วยกิต โดยจะใช้เวลาเรียนปกติ ๒ ปี แต่ถ้าเทียบโอนผลการเรียน ความรู้ และประสบการณ์ใช้เวลา ๑-๑.๕ ปี โดยการเทียบโอนส่วนหนึ่ง แล้วเรียนเพิ่มส่วนที่เหลือ
รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวคิดการบริจาคคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตว่า ขอฝากถึงประชาชนและบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกิจกรรม CSR : Corporate Social Responsibility หรือกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม ให้ร่วมบริจาคซื้อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียน นักศึกษา โดย ศธ.จะเปิดกว้างในการบริจาค ให้สามารถเลือกซื้อให้กับโรงเรียนใด ในพื้นที่ใด หรือซื้อในชั้นเรียนใดก็ได้ตามความต้องการ หรือจะซื้อให้กับคนงานของตนเองที่เรียน กศน.อยู่ก็ได้ ซึ่งถ้ามี ศธ.ก็จะจัดคนสอนให้ ฝากให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีคนงานจำนวนมากช่วยส่งเสริมให้คนงานได้เรียนหนังสือและจัดห้องเรียน กศน.ในโรงงาน ซึ่ง ศธ.ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนงานมีความรู้มากขึ้น เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น เมื่อเรียนจบ ผู้ประกอบการก็อาจจะมอบประกาศนียบัตรและสร้างแรงจูงใจโดยการขึ้นเงินเดือน เพื่อให้คนงานได้พัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะ พัฒนาเทคโนโลยี และสามารถทำวิจัยได้ ก่อให้เกิดวิธีการทำงานแบบใหม่ องค์ความรู้ใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจได้ในอนาคต
เข้าชม : 1633
|