จุดเริ่มต้นของการใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ซึ่งเราต้องย้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
‘ธงแดง’ ธงชาติแรกของไทย
เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2223 ในช่วงที่กรุงศรีอยุธยา มีความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาค ซึ่งจากประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่เลื่องลือในพระราโชบายทางคบค้ากับชาวต่างประเทศ และการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติมหาอำนาจในยุโรป ซึ่งนำมาสู่จุดกำเนิดของ ‘ธงแดง’ ธงชาติยุคแรกของสยาม
ประเทศฝรั่งเศส ในยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้จัดส่งเรือรบมายังสยาม จากหนังสือจดหมายเหตุของประเทศฝรั่งเศสได้มีการบันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2223 เรือเลอโวตูร์ เรือรบของฝรั่งเศสมีนายเรือชื่อ มองซิเออร์ คอนูแอน ได้นำเรือรบลำนี้เข้ามาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจริญพระราชไมตรี และเพื่อการค้ากับอยุธยา
โดย มองซิเออร์ คอนูแอน ได้สอบถามไปทางฝ่ายอยุธยาว่าจะขอยิงสลุต (Salut) เมื่อเรือแล่นผ่านป้อมวิไชยเยนทร์ (ป้อมวิไชยประสิทธิ์ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นไปตามประเพณีของชาวยุโรป สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระราชานุญาตพร้อมกับรับสั่งให้ออกพระศักดิ์สงคราม (เชอวาเลีย เดอ ฟอร์บัง) กำกับให้ทางป้อมยิงสลุตตอบรับด้วย
แต่ตามประเพณีแล้ว การตอบรับจะต้องชักธงชาติเป็นสัญลักษณ์ตอบรับด้วย ซึ่งสยาม ณ เวลานั้นยังไม่มีธงประจำชาติ ทางป้อมจึงตัดสินใจใช้ธงประเทศฮอลันดาแทน แต่ประเทศฝรั่งเศสไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่ธงประจำประเทศไทย จึงให้นำธงฮอลันดาลง ฝ่ายสยามออกพระศักดิ์สงคราม จึงแก้ปัญหาด้วยการนำเอาธงแดงที่มีอยู่ในขณะนั้นขึ้นแทนธงชาติ ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ยิงสลุตกันอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการแสดงการยอมรับดังกล่าว เหตุผลนี้ธงแดงจึงเป็นธงประจำชาติผืนแรกของไทยอย่างไม่เป็นทางการ
การเปลี่ยนจากธงแดงสู่ ธงวงจักร และ ธงช้าง
วิวัฒนาการของธงไทยได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปวงจักรสีขาวอยู่ตรงกลาง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเรือหลวง และเป็นการแยกระหว่าง ธงเรือหลวงกับเรือสินค้า เนื่องจากที่ผ่านมา เรือทั้ง 2 ชนิดใช้ธงสีแดงเหมือนกัน
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงมีพระราชดำริให้นำเอารูปช้างเผือกสีขาววางไว้ตรงกลางวงจักรสีขาว เนื่องจากช้างคือสัญลักษณ์แห่งแผ่นดินของกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีการใช้ธงสี่เหลี่ยมผืนสีแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกเปล่าหันหน้าเข้าหาเสาธง โดยไม่มีวงจักรล้อมรอบตัวช้าง ซึ่งในช่วงนั้นมีการพื้นฟูความสัมพันธ์และเริ่มต้นทำสนธิสัญญาต่างๆกับชาติมหาอำนาจตะวันตกมากขึ้น จึงทรงมีพระราชดำริว่าสยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมของชาติตะวันตก
รัชกาลที่ 5 ในสมัย ร.ศ. 110 หรือหลังจากก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์มาได้ทั้งหมด 110 ปี ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 2434 ได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติธง ฉบับที่ 1 เป็นแบบอย่างธงสยามที่รับรองเป็นกฎหมายเล่มแรก ว่าธงชาติสยามเป็นแบบไหน โดยในพระราชบัญญัติธงฉบับที่ 1 ข้อที่ 13 ได้ระบุไว้ว่า
“ข้อ 13 ธงชาติสยาม เป็นรูปช้างเผือกเปล่าพื้นแดง ใช้ในเรือกำปั่นและเรือทั้งหลายของพ่อค้าเรือกำปั่นแลเรือต่างๆ ของไปรเวตทั่วไปในชาวสยาม
ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ลงวันที่ 25 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 110”
เหตุเกิดที่อุทัยธานี การเปลี่ยนธงช้างสู่ธงแดงขาวห้าริ้ว
หลายคนอาจสงสัยว่าจากธงช้างที่ดูเหมือนจะสามารถเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทยมาถึงปัจจุบันได้ ถูกเปลี่ยนกลายมาเป็นธงไตรรงค์ได้อย่างไร แต่แท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นมีเหตุผลที่คาดไม่ถึงจากการที่ชาวจังหวัดอุทัยธานี รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2459
หลังจากที่มีการประกาศข่าวให้ประชาชนชาวเมืองทราบกันทั่วว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเยี่ยมราษฎรประจำจังหวัดอุทัยธานี และจะหยุดประทับแรมถึงสองราตรี ราษฎรจึงได้จัดเตรียมเคหสถานบ้านเรือนเป็นงานรับเสด็จเป็นการใหญ่ ส่งผลให้ตลอดข้างทางเสด็จในเมืองอุทัยธานี เต็มไปด้วยธงทิวผ้าเฟื่อง ซุ้มดอกไม้ และโต๊ะบูชา เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี
แต่ในระหว่างที่รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินผ่านตัวเมืองอุทัยธานี ไปถึงแถบชุมชนที่ห่างจากบริเวณตัวเมือง ชาวบ้านในตัวชุมชนก็ได้พยายามติดธงช้างเพื่อให้การต้อนรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน แต่มีบ้านหลังหนึ่งที่ได้ธงมาอย่างกะทันหัน จึงได้เอาธงช้างไปติดไว้บนยอดหน้าจั่วหลังคา แต่เมื่อขบวนเสด็จพระราชดำเนินมาหยุดลง สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อล้นเกล้าล้นกระหม่อมทอดพระเนตรขึ้นไปเห็นธงช้างฝืนนั้น ก็มีอาการสะดุดพระเนตร เนื่องจากธงช้างติดอยู่ในลักษณะช้างนอนหงายเอาเท้าชี้ฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เป็นมงคล จากนั้นมา พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก จึงเป็นจุดกำเนิดของธงแดงขาวห้าริ้ว ซึ่งเป็นรูปแบบสมมาตร และไม่ว่าติดด้านไหนก็ไม่มีลักษณะกลับหัว โดยสีแดงนั้นมาจากสีเดิมของธง ส่วนสีขาวมาจากช้างเผือกนั้นเอง
กำเนิดธงไตรรงค์ จากคำแนะนำของ อะแควเรียส หรือ อะแควริส ผู้ใช้นามแฝงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2460
ก่อนที่สยามจะประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศของเรายังคงอยู่ในช่วงทดลองใช้ธงห้าริ้ว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับฟังความคิดเห็นทั่วไปเกี่ยวกับธงชาติสยาม แต่แล้ว ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2460 ปรากฏว่ามีผู้ใช้นามแฝงว่า อะแควเรียส หรือ อะแควริส ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับธงชาติว่าควรเพิ่มสีน้ำเงิน เพื่อให้ธงชาติสยามมีสีน้ำเงิน แดง ขาว เหมือนกับชาติสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นเอง
บันทึกจดหมายเหตุรายวันของพระองค์ระบุไว้ว่า
“เพื่อนของผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นว่า ไม่สู้พอใจต่อรูปแบบของธงสยามที่ทำขึ้นใหม่ เพราะเห็นว่าไม่สง่างามพอสำหรับประเทศ และได้ออกความคิดเห็นว่าริ้วแดงกลางควรจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน ดังนี้ริ้วขาวที่กระหนาบสองข้างประกอบกับริ้วสีน้ำเงินกลางก็จะรวมกันเป็นสีส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสีแดงกับขาวที่ริมประกอบกันก็จะเป็นสีสำหรับชาติ และด้วยประการนี้ กรุงสยามก็จะได้มีธงสีแดง ขาว กับน้ำเงิน เช่นเดียวกับ ธงสามสี (ฝรั่งเศส) ธงยูเนี่ยนแจ็ค (อังกฤษ) และ ธงดาวและริ้ว (อเมริกัน)”
ซึ่งพระองค์ทรงเห็นด้วย จึงได้เพิ่มสีน้ำเงิน สีทรงโปรดลงตรงกลาง ก่อนจะนำเรื่องเข้าประชุมลงมติเห็นชอบธงสามสีแบบที่คิดขึ้นใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ธงไตรรงค์ เป็นธงประจำชาติ และได้พระราชทานธงไตรรงค์ เป็นธงชาติสยาม เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460
ธงใหม่ของสยามภายใต้การปรับปรุงครั้งนี้ ตรงกับช่วงเวลาการตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสยามประเทศเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2461 ซึ่งหลังจากสงครามจบลง และสยามอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ชนะ ธงไตรรงค์ของสยามก็ได้เดินผ่านประตูชัยที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับคณะทหารอาสา ในการเฉลิมฉลองชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2462 ซึ่งนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชนะสงครามร่วมกับชาติมหาอำนาจในยุโรปแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ชาติมหาอำนาจในยุโรปให้การยอมรับสยามในเวทีโลก
โดยสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดคือการที่สยามได้เข้าร่วม สันนิบาตชาติ (League of Nations) องค์การระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2462 เพื่อป้องกันสงครามความขัดแย้งในอนาคต รวมถึงได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ซึ่งสยามมีอำนาจในการต่อรองกับชาติมหาอำนาจมากขึ้น จากการตัดสินใจครั้งนั้น
การเปลี่ยนแปลงของธงประจำชาติสยามหรือไทยเราในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่ามีการพิจารณาตามความเหมาะสมของยุคสมัย และเมื่อใดก็ตามที่เห็นถึงความสำคัญที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยของโลก ไทยก็สามารถปรับตัวได้เสมอ
ในแต่ละยุคสมัย ความหมายและบทบาทของธงไตรรงค์เปลี่ยนแปลงไปตามบทบาทของผู้นำในแต่ละยุค จนมาถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 ธงไตรรงค์ของเราจะมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป และธงไตรรงค์ถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า 100 ปีผ่านไป คนไทยมองธงไตรรงค์แล้วมีความรู้สึกอย่างไร
ขอขอบคุณข้อมูล จาก www. thestandard.co/thainationalflag100years/
อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1081042
เข้าชม : 4402
|