[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

 

             กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อสนองพระราชปณิธานและแนวทางพระราชดำริ ในการส่งเสริมการศึกษา  สำหรับประชาชนตามที่ทรงแสดงไว้ในโอกาสต่าง ๆ เช่นในโอกาสที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จเป็นองค์ประธานในการประชุม  สมัชชาสากลว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2533 ได้ทรงพระราชทานลายพระหัตถ์เชิญชวนให้ “ร่วมกันทำให้ชาวโลกอ่านออกเขียนได้” และในบท พระราชนิพนธ์เรื่อง “ห้องสมุดในทัศนะของข้าพเจ้า” ได้ทรงกล่าวว่า ความรู้ของมนุษย์เป็นมรดกตกทอดกันมาแต่โบราณเมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นอักษรขึ้นผู้มีความรู้ก็ได้บันทึกความรู้ของตนสิ่งที่ตนค้นพบเป็นการจารึก หรือเป็นหนังสือทำให้  บุคคลอื่นในสมัยเดียวกัน หรืออนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาทราบถึงเรื่องนั้นๆ และได้ใช้ความรู้เก่าๆ เป็นพื้นฐานที่จะหาประสบการณ์  คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นความก้าวหน้าเป็นความเจริญสืบต่อไป “ห้องสมุดเป็นสถานที่เก็บเอกสารต่างๆ  อันเป็นแหล่งความรู้ดังกล่าวแล้ว  จึงเรียกได้ว่าเป็นครูเป็นผู้ชี้นำให้เรามีปัญญา วิเคราะห์ วิจารณ์ให้รู้สิ่งควรรู้อันชอบด้วยเหตุผลได้” ข้าพเจ้าอยากให้เรามีห้องสมุดที่ดีมีหนังสือครบทุกประเภทสำหรับประชาชน หนังสือประเภทที่ข้าพเจ้าคิดว่าสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ  หนังสือสำหรับเด็ก วัยเด็กเป็นวัยเรียนรู้เด็กๆ ส่วนใหญ่สนใจจะทราบเรื่องราวต่างๆ  แปลกๆ ใหม่ๆ อยู่แล้ว ถ้าเรามีหนังสือที่มีคุณค่าทั้งเนื้อหาและรูปภาพ ให้เขาอ่านให้ความรู้ความบันเทิง เด็กๆ จะได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ที่รอบรู้  มีธรรมะประจำใจ มีความรักบ้านเมืองมีความต้องการปรารถนาจะทำแต่ประโยชน์ที่สมควร กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ขอพระราชทานพระราชาอนุญาตดำเนินโครงการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”   โดยจะเริ่มก่อสร้างห้องสมุดรุ่นแรกจำนวน 37 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่ทรง    มีเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา ในปี 2534 และจะวางแผนดำเนินการจัดตั้งอย่างต่อเนื่องจนครบทุกอำเภอภายในระยะ เวลา 10  ปี ระหว่าง      ปี 2534 - 2543 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นทศวรรษแห่งการส่งเสริมการรู้หนังสือ
 
   

          วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมุ่งที่จะกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนในชนบทด้วยการจัดตั้งและพัฒนาห้องสมุดประชาชนอำเภอ  ให้เป็นแหล่งความรู้สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัยและเป็นศูนย์กลางสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่เอกสารสิ่งพิมพ์ ไปสู่ที่อ่านหนังสือในระดับหมู่บ้านทั้งนี้ โดยได้กำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะในการดำเนินการไว้ดังต่อไปนี้พัฒนารูปแบบของห้องสมุดประชาชนอำเภอ  เพื่อสนองตามแนวพระราชดำริ  เพื่อให้เป็นตัวอย่างของห้องสมุดในอนาคตที่จะเป็นแหล่งความรู้และศูนย์กลางสนับสนุนเครือข่ายการเรียนรู้ ในระดับหมู่บ้าน จัดตั้งห้องสมุดประชาชนอำเภอให้ครบทุกอำเภอ  โดยจะคัดเลือกอำเภอที่มีความพร้อมและความจำเป็นเร่งด่วน ดำเนินการจัดตั้งเป็นรุ่นแรกจำนวน 37 แห่ง ในช่วงปี  2534 - 2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี และทยอยการจัดตั้งในอำเภอ อื่น  จนครบทั่วทั้งประเทศในช่วงปี  2536 - 2543 พัฒนาห้องสมุดประชาชนอำเภอที่จัดตั้งอยู่เดิมแล้วให้มีคุณภาพและ มีความพร้อมที่จะให้บริการตามบทบาท และภารกิจของห้องสมุดในอนาคตประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน  เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  เห็นความสำคัญของการอ่าน และการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อจะได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดำเนินโครงการ  และใช้ประโยชน์จากห้องสมุดที่จะจัดตั้งขึ้น

     

            ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชลบุรี  ได้ดำเนินการจัดสร้างห้องสมุดประชาชน  “เฉลิมราชกุมารี”  อำเภอบางละมุงขึ้นในปี 
พ.ศ. 2536 เป็นลำดับที่ 32 ของประเทศไทย โดยท่านพระครูปัญญาพิพัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดโพธิสัมพันธ์อนุญาตให้ใช้พื้นที่บริเวณ
วัดโพธิสัมพันธ์ก่อสร้างห้องสมุดซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2 งาน  ด้านหน้าติดถนนพัทยา - นาเกลือ ทิศเหนือติดกับโรงเรียนโพธิสัมพันธ์พิทยาคาร ส่วนด้านทิศใต้ ติดกับโรงเรียนเมืองพัทยา 9 งบประมาณการก่อสร้างได้รับการสนับสนุนจากกรมการศึกษานอกโรงเรียน  และนายไพบูลย์  อนันตกูล  ร่วมกับประชาชนชาวจังหวัดชลบุรีร่วมกันบริจาคสร้างห้องสมุดแห่งนี้โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3,310,000 บาท ได้ดำเนินการวางศิลาฤกษ์ ในวันเสาร์ที่  27 เมษายน 2534 เวลา 10.30 น. โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธาน  และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2534 จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม 2535 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารห้องสมุดแห่งนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม  2536 และเปิดให้บริการตลอด
มาถึงปัจจุบัน  นับได้ว่าการก่อสร้างห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”แห่งนี้ได้สร้างขึ้นจากความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี

 

 



เข้าชม : 960
 
 

ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอบางละมุง  จังหวัดชลบุรี
หมู่ 5 ถ.พัทยา-นาเกลือ ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 20150 
โทรศัพท์ 038-225-821 โทรสาร  038-225-821 E-Mail: libbanglamung@gmail.com
facebook: 
https://www.facebook.com/punyanuchsuma

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version   Atsabala Custom