เนื้อหา : สาระน่ารู้
หมวดหมู่ : บทความทั่วไป หัวข้อเรื่อง : พ่อแม่ยุคไซเบอร์ต้องตามให้ทันภัยโซเชียล
อังคาร ที่ 16 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2556
|
|
ดูข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่ทำการสำรวจ "ชีวิตเด็กไทยใน 1 วัน" พบว่า มีเรื่องท้าทายให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ยุคใหม่ไม่ใช่น้อย ที่จะต้องดูแลลูกให้อยู่ในร่องในรอย ในยุคที่สื่ออินเทอร์เน็ตครองโลก
เพราะจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 3,058 คน ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พบว่า สิ่งแรกที่เด็กส่วนใหญ่ถึง 51.1% ทำหลังตื่นนอน คือ เช็กโทรศัพท์มือถือ และสิ่งสุดท้ายที่เด็กถึง 35% ทำก่อนนอน คือ ใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเฟซบุ๊ก และไลน์ (Line) เพราะปัจจุบันเด็กไทยอยู่กับสื่อมากขึ้น ในโทรศัพท์มือถือมีทุกสิ่งที่เด็กต้องการ ทั้งอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก ไลน์ กล้องถ่ายรูป โดย 75.7% เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กบ่อยจนถึงประจำ นักเรียนหญิงเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กมากกว่านักเรียนชาย และยังพบเด็ก 20.3% ใช้มือถือระหว่างคาบเรียนบ่อยถึงประจำ แถม 42.5% รู้สึกทนไม่ได้ถ้าอยู่คนเดียวโดยไม่มีโทรศัพท์ และเด็ก 28.7% โดยเฉพาะเด็กชาย ระบุว่า เคยถูกคุกคามทางเพศจากเพื่อนใหม่ที่รู้จักกันทางโซเชียลมีเดีย ที่สำคัญ เด็กไทยใช้เวลาอยู่กับโลกโซเชียลมีเดียนานถึงวันละ 8 ชั่วโมงเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่า เด็กยุคใหม่ถูกเลี้ยงดูด้วย "มือถือ" และ "อินเทอร์เน็ต" เป็นหลัก ซึ่งตรงนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม หากใครเลือกใช้ในทางที่ดีและเหมาะสม คลายเครียด หาความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ สื่อเหล่านี้ก็จะช่วยเกื้อหนุนให้มีการพัฒนาทางไอคิว และอีคิว
แต่อนิจจา สื่อโซเชียลในปัจจุบันนั้นมีเนื้อหาที่ยั่วยุ หลอกลวง และมีเนื้อหาที่เป็นโทษพอๆ กัน หรือมากกว่าเนื้อหาส่วนดีด้วยซ้ำ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ควรปล่อยปละละเลยกับการปล่อยให้โทรศัพท์เลี้ยงดูลูก ซึ่งดีไม่ดีจะเลวร้ายกว่าการเลี้ยงลูกให้โตผ่านโทรทัศน์เสียด้วยซ้ำ
เพราะจากผลสำรวจเริ่มเห็นสัญญาณว่า "เด็กเริ่มสนใจการเรียนลดลง"
ในที่นี้มีแนวทางดีๆ ในการเลี้ยงดูบุตรหลานในยุคปัจจุบัน จากบทความของคุณหมอ "บัณฑิต ศรไพศาล" ที่เขียนลงในเว็บไซต์ของ "เครือข่ายครอบครัว" ในหัวข้อ คู่มือพ่อแม่ดูแลลูกยุคไซเบอร์ : 10 ข้อปฏิบัติในการดูแลช่วยเหลือเด็กติดเกมหรืออินเทอร์เน็ต
1.สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเล็ก พ่อแม่สามารถกำหนดวินัยให้ลูกฝึกปฏิบัติตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็ก โดยการตั้งกฎกติกาที่ชัดเจนว่าอะไรห้ามทำบ้าง เด็กจะเรียนรู้ที่จะควบคุมบังคับตัวเองให้ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ
2.ลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การจำกัดจำนวนคอมพิวเตอร์ในบ้านให้มีน้อยกว่าจำนวนคน จะเป็นผลให้เด็กๆ ต้องแบ่งกันใช้คอมพิวเตอร์ การกำหนดที่ตั้งของคอมพิวเตอร์ในห้องโถงหรือพื้นที่ใช้ร่วมกันในบ้าน จะช่วยลดพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ระดับหนึ่ง
3.ใช้มาตรการทางการเงิน การจำกัดจำนวนและความถี่ของการให้เงิน ได้แก่ การไม่ให้เงินแก่ลูกมากเกินไป จะทำให้ไม่มีเหลือเฟือไปเล่นเกม หรือแม้ไปเล่นก็จะถูกจำกัดโดยจำนวนเงินที่มีไม่มากนั้น
4.ฟังและพูดดีต่อกัน การฟังแบบดีต่อกัน คือ การตั้งใจฟังด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ฟังให้จบก่อนที่จะพูด ฟังด้วยความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจ
5.จับถูก ชื่นชม ให้กำลังใจ พ่อแม่ต้องเข้าใจพลังของกำลังใจและสร้างให้เกิดกำลังใจในตัวลูก หากกำลังใจดีสมองจะทำงานได้ดี คนเราจะไม่เรียนรู้หากถูกตำหนิตลอดเวลา
6.ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม และบังคับใช้อย่างเข้มแข็งแต่อ่อนโยน (อ่อนนอก แข็งใน) เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ให้ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกำหนดกติกา ดีกว่าการกำหนดกติกาหรือสั่งการบังคับแต่ฝ่ายเดียว ส่วนรูปธรรมกติกา คือ การทำให้กติกาสามารถวัดได้ชัดเจนตรงกันทั้งสองฝ่าย
7.มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้เด็ก การมีทางออกเชิงสร้างสรรค์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดความสุข ความสำเร็จทดแทน จะช่วยเด็กและเยาวชนได้ เนื่องจากธรรมชาติมนุษย์ทุกคนแสวงหาความสุขและความสำเร็จ
8.สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ในครอบครัว การสร้างรอยยิ้มในครอบครัวจะทำให้เกิดบรรยากาศครอบครัวอบอุ่น
9.ควบคุมอารมณ์และสร้างความสุขเล็กๆ ในใจของพ่อแม่เอง การควบคุมดูแลอารมณ์ของพ่อแม่เอง ไม่ให้โกรธมากไปหรือเสียใจมากไป
10.เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา... ทันที หลักการนี้สำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ มนุษย์เราไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยนอกจากตัวเรา
เข้าชม : 3099
|
|
บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด
ญี่ปุ่นเตรียมติดตั้ง \"ส้วม\" ในลิฟท์ รับมือเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดบ่อยครั้ง 16 / มิ.ย. / 2558
คนประสบความสำเร็จ ก่อนนอน ทำอะไร ? 14 / พ.ค. / 2557
ความเย็นจัดรักษาโรคได้หรือ 14 / พ.ค. / 2557
เผยเคล็ดไม่ลับ 9 ข้อ สกัดภัยร้ายการเงิน 8 / มี.ค. / 2557
เคล็ดลับคนชอบกิน เส้น 8 / มี.ค. / 2557
|